กรมทรัพยากรธรณี มอบอุปกรณ์วัดน้ำฝนและแผนที่พื้นที่เสี่ยงดินถล่ม ให้จังหวัดภูเก็ต ไปติดตั้งในพื้นที่เสี่ยงดินถล่ม 30 จุด เพื่อใช้เป็นเครื่องมือแจ้งเตือนและอพยพประชาชนไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย
นายสุวภาคย์ อิ่มสมุทร รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี มอบอุปกรณ์วัดปริมาณน้ำฝน สำหรับการเฝ้าระวังแจ้งเตือนภัยดินถล่ม หรือ กระบอกวัดปริมาณน้ำฝน จำนวน 30 กระบอก ให้กับกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ในพื้นที่เสี่ยงน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่มในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อนำไปติดตั้งวัดปริมาณน้ำฝนในพื้นที่เพื่อใช้ในการแจ้งเตือนภัยให้กับประชาชนในพื้นที่เสี่ยง โดยมี กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่เสี่ยง 30 หมู่บ้าน รับมอบ และมีนายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม และทางกรมทรัพยากรธรณียังได้มอบแผ่นที่จุดเสี่ยงน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่ม 15 ตำบลให้กับทางจังหวัดภูเก็ตอีกด้วย ณ ห้องประชุมมุกอันดา ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต
รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากกรมทรัพยากรธรณีได้อธิบายถึงวิธีการติดตั้ง ที่จะต้องติดตั้งในที่โล่ง การจดบันทึกปริมาณน้ำฝนที่ตกแต่ละครั้ง และปริมาณน้ำฝนสะสม ให้กับกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน พร้อมทั้งแจ้งการเตือนภัย หากปริมาณน้ำฝนสะสมวัดได้เกิน 100- 150 มิลลิเมตร ให้มีการแจ้งเตือนและเตรียมความพร้อมในการอพยพประชาชนไปอยู่ในที่ปลอดภัย และหากน้ำฝนที่ตกสะสมเกิน 200 มิลลิเมตร ภายในวันเดียว จะต้องมีการอพยพประชาชนไปอยู่ในที่ปลอดภัย เพราะโอกาสที่ดินจะสไลด์ลงมามีสูงมาก จากที่ดินไม่สามารถอุ้มน้ำไว้ได้จากปริมาณน้ำฝนที่มีจำนวนมาก
การมอบอุปกรณ์วัดปริมาณน้ำฝน สำหรับการเฝ้าระวังแจ้งเตือนภัยดินถล่ม ให้จังหวัดภูเก็ตในครั้งนี้ เพื่อเฝ้าระวังและแจ้งเตือนดินถล่มในพื้นที่เสี่ยง ทั้ง 8 จุด เนื่องจากในช่วงมรสุมของปีนี้ภูเก็ตได้เกิดน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่มมาแล้ว 2 ครั้ง จากปริมาณฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก คือ ครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2567 น้ำป่าและดินจากเทือกเขากมลาไหลหลากลงมาพร้อมกับก้อนหินและทรายเข้าร่วมบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่บ้านหัวควน ต.กมลา อ.กะทู้ อย่างรวดเร็ว ครั้งนั้นวัดปริมาณน้ำฝนได้กว่า 300 มิลลิเมตร ครั้งที่ 2 ดินจากเทือกเขานาคเกิดสไลด์ลงมาทับบ้านเรือนประชาชนในซอยปฏัก 2 ต.กะรน อ.เมือง บ้านเรือนเสียหายกว่า 200 หลัง มีผู้เสียชีวิตถึง 13 ศพ ครั้งนั้นวัดปริมาณน้ำฝนได้กว่า 200 มิลลิเมตร ทางกรมทรัพยากรธรณีจึงได้นำกระบอกวัดปริมาณน้ำฝนดังกล่าวมามอบและดินตั้งในพื้นที่เสียงของภูเก็ต 30 จุด เพื่อเฝ้าระวังและใช้เป็นข้อมูลในการแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยง