กรมทรัพยากรธรณี ลงสำรวจจุดเกิดดินสไลด์ เขาพระใหญ่พบมีโอกาสเกิดสไลด์ได้อีก เสนอทางออก ทำตะแกรงดักป้องกันการสไลด์ ด้านนักวิชาการ ม.อ.ภูเก็ต บินโดรนสำรวจและวัดระดับด้วยเครื่อง Total station ก่อนนำข้อมูลไปทำแบบจำลอง แก้ปัญหาระยะเร่งด่วน
นายสุวภาคย์ อิ่มสมุทร รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี พร้อมคณะ ลงพื้นที่เทือกเขานาคเกิด (เขาพระใหญ่) ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต เพื่อทำการสำรวจพื้นที่แนวร่องน้ำป่าไหลหลาก จนทำให้มีดินสไลด์ทับบ้านเรือนของประชาชนในชุมชนกะตะ ร่วมกับนายสมคิด ช่อคง ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต, นายจรูญ อุดมกิจวิบูลย์ รองนายกเทศมนตรีตำบลกะรน, นายสรศักดิ์ รณะนันทน์ หัวหน้าศูนย์ป่าไม้ภูเก็ต, สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดภูเก็ต ตลอดจนนักวิชาการจากมหาวิทยาสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเชตภูเก็ต นำโดยนายจตุรงค์ คงแก้ว รองคณบดีฝ่ายบริหารและทรัพยากรบุคคล คณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยอาจารย์และนักศึกษา สาขาเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศสิ่งแวดล้อม ร่วมเก็บข้อมูล เพื่อจัดทำแนวทางการระบายน้ำ โดยใช้โดรนและการวัดระดับด้วยเครื่อง Total station
หลังจากนั้นทางคณะรองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ยังได้เดินทางไปยังบริเวณปฎักซอย 8 ต.กะรน อ.เมืองภูเก็ต เพื่อดูสภาพแนวการไหลลงมาดิน จากด้านบนเทือกเขานาคเกิด ทั้งนี้จะมีการรวบรวมข้อมูลทั้งหมด เพื่อจัดทำแผนและมาตรการในการรับมือ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุรุนแรงขึ้นมาอีก พบว่า ยังมีโอกาสที่จะเกิดการสไลด์ได้อีก หากมีฝนตกหนักและติดติดต่อกันเป็นเวลานาน
นายสุวภาคย์ อิ่มสมุทร รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวภายหลังการลงพื้นที่ถึงแนวทางในการป้องกันไม่ให้เกิดดินสไลด์ซ้ำขึ้นอีก ว่า จาการสำรวจพบ เทือกเขานาคเกิดจะมี 2 ลักษณะ ในส่วนที่ถล่มนั้นจะเป็นชั้นดินที่อยู่ตามเชิงเขา ซึ่งง่ายต่อการถล่มและได้ถล่มไปแล้ว ในขณะที่ส่วนอื่นเป็นหินแกรนิตที่ผุกร่อน จึงเหลือเพียงโซนเดียวในการดูแลตามลักษณะของธรรีวิทยา โดยพยายามที่จะมีแนวป้องกันไม่ให้หินที่ค้างอยู่ด้านบนไหลลงไป ด้วยการทำตะแกรงกั้น 3-4 ชั้น ตามร่องต่างๆ ทั้งนี้จะได้ดูความเหมาะสมในการทำตะแกรง กับการศึกษาการไหลของน้ำ ไม่ให้ไหลไปฝั่งใดฝั่งหนี่ง เพราะเชื่อว่าหากมีฝนตกหนักและมีน้ำฝนประมาณ 200 มิลลิเมตร มีโอกาสจะถล่มลงมาได้อีก
ขณะที่นายจตุรงค์ คงแก้ว รองคณบดี ฝ่ายบริหารและทรัพยากรบุคคล คณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ม.อ.ภูเก็ต กล่าวว่า เนื่องจากได้รับการประสานจากทางจังหวัดภูเก็ตให้มาช่วยดำเนินการสำรวจในเรื่องของการเบี่ยงทางน้ำ เนื่องจากพี่น้องประชาชนที่ประสบเหตุในพื้นที่ชุมชนกะตะ มีความหวาดกลัวว่า หากมีฝนตกหนักลงจะมีดินสไลด์ลงมาอีก โดยใช้โดรนและการวัดระดับด้วยเครื่อง Total station เพื่อทำแบบจำลอง ให้มีการกระจายน้ำไปตาทิศทางต่างๆไม่ให้กระจุกอยู่เพียงจุดใดจุดหนึ่งซึ่งจะอันตราย เมื่อได้แบบจำลองแล้วจะนำเสนอจังหวัดเพื่อพิจาณราตามขั้นตอนต่อไป