กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและคณะลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ตติดตามโครงการโรงเรียนอีโคสคูลระดับกลาง
ที่ โรงเรียนบ้านพรุจำปา อ.ถลาง จ. ภูเก็ต กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม นำโดยนางสาวนุชนารถ ไกรสุวรรณ ผู้อำนวยการกลุ่มสิ่งแวดล้อมศึกษา กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพร้อมคระ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานโครงการโรงเรียนอีโคสคูลระดับกลาง (ECO School Intermediate) เพื่อติดตามความก้าวหน้าผลการดำเนินงานและจัดกระบวนการเรียนรู้ กิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากคณะผู้บริหร สถานศึกษา ครู นักเรียน พร้อมให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน่อการขับเคลื่อนโครงการฯ โดยมี นายสุรชัย ผิวเหลือง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านพรุจำปา นายปัณณธร จะม้าย ศึกษานิเทศก์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาภูเก็ตให้การต้อนรับ
นางสาวนุชนารถ ไกรสุวรรณ ผู้อำนวยการกลุ่มสิ่งแวดล้อมศึกษา กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า จากการติดตามการดำเนินงานฯ ในครั้งนี้ พบว่า โรงเรียนสามารถขับเคลื่อนการพัฒนาโรงเรียนตามแนวทางของโรงเรียนอีโคสคูล ระดับกลาง ได้อย่างเหมาะสม มีการใช้พื้นที่ในท้องถิ่นเป็นแหล่งเรียนรู้ และเป็นห้องเรียนธรรมชาติให้กับนักเรียน โดยคณะทำงานโครงการฯ ได้ให้ข้อเสนอแนะแนวทางการดำเนินงานเพิ่มเติมตามข้อจำกัดของโรงเรียนที่ได้นำเสนอ เพื่อให้สามารถนำไปปรับใช้ตามบริบทของพื้นที่ และสามารถดำเนินงานตามภารกิจในทุก ๆ มิติให้ประสบความสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
สำหรับโครงการโรงเรียนอีโคสคูล (Eco-School) เป็นการนำหลักการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ (Whole School Approach) และหลักสิ่งแวดล้อมศึกษา (Environmental Education) มาใช้ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ โดยใช้ชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้หรือ Community Based Learning ซึ่งเป็นกระบวนการในการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เกิดการเรียนรู้ในสิ่งแวดล้อมของตนเอง เกิดการคิดวิเคราะห์ ในการแก้ไขปัญหา และพัฒนาสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น หรือ Problem Based Learning อันจะนำไปสู่การพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เติบโตเป็น “พลเมือง” ที่ใช้ชีวิตอย่าง “พอเพียง” เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ “ยั่งยืน” ตามเป้าหมายสูงสุดของโครงการ” โครงการนี้ ถือเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ (UN) ทั้งในมิติด้านการพัฒนาคน หรือด้านการศึกษา และมิติสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่นำพาสู่เป้าหมายการพัฒนาประเทศต่อไป