การประชุมระหว่างประเทศ แผนงาน IMT-GT

การประชุมระหว่างประเทศ แผนงาน IMT-GT วันที่ 2 วาระสำคัญมีการ ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพารา กับประเทศเพื่อนบ้านทั้ง 3 ประเทศ และมีธนาคารพัฒนาเอเซียเเละสำนักงานเลขาธิการอาเซียนมาร่วมสนับสนุนงานด้านวิชาการ

ภูเก็ตการประชุมระหว่างประเทศ แผนงาน IMT-GT วันที่ 2 ( 14 กันยายน 2565)เป็นการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสกรอบความร่วมมือ IMT-GT อินโดนีเซีย มาเลเซียและประเทศไทย การประชุมเป็นไปได้ด้วยดี วาระสำคัญมีการ ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพารา กับประเทศเพื่อนบ้านทั้ง 3 ประเทศ และมีธนาคารพัฒนาเอเซียเเละสำนักงานเลขาธิการอาเซียนมาร่วมสนับสนุนงานด้านวิชาการ

ที่ โรงแรมทราย ลากูน่า ภูเก็ต นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ครั้งที่ 29 (SOM) โดยมีเจ้าหน้าที่อาวุโสจากประเทศอินโดนีเซียมาเลเซียและไทยเข้าร่วมกว่า 120 คน

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกล่าวว่า ในวันนี้เป็นการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกรอบความร่วมมือ IMT-GT อินโดนีเซียมาเลเซียและประเทศไทย การประชุมเป็นไปได้ด้วยดี โดยเจ้าหน้าที่อาวุโส ที่เข้าร่วมประชุม ได้รับทราบ ความก้าวหน้าจากคณะทำงานทั้ง 8 สาขาความร่วมมือ ได้แก่ (1) การเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร (2) การท่องเที่ยว (2) ผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล (4) การเชื่อมโยงทางคมนาคม (5) การอำนวยความสะดวกในการค้าและการลงทุน (6) สิ่งแวดล้อม (7) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และ (8) เทคโนโลยีดิจิทัลโดยภาพรวมส่วนใหญ่โครงการต่างๆ สามารถเดินหน้าไปได้โดยเฉพาะเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานและที่สำคัญในวันนี้จะมีการ ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ในเรื่องของโครงการของการยางแห่งประเทศไทยที่จะมีความร่วมมือในเรื่องของการพัฒนาอุตสหกรรมยางพารา กับประเทศเพื่อนบ้านทั้ง 3 ประเทศ ส่วนหนึ่งที่สำคัญคือการมี
Development partner ซึ่งเป็นธนาคารพัฒนาเอเซียเเละทางสำนักงานเลขาธิการอาเซียนที่มาร่วมประชุมด้วยเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าจะมีการสนับสนุนการทำงานในกรอบความร่วมมือร่วมกันโดยเฉพาะด้านวิชาการ ประเด็นที่เจ้าหน้าที่อาวุโสได้ประชุม ในวันนี้คือการขยายเชื่อมโยงกรอบความร่วมมือ IMT-GT ไปยังกรอบความร่วมมือด้านอื่นๆ ที่ประเทศไทยมีอยู่ อาทิ กรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เพื่อที่จะขยายให้เกิดประโยชน์ ในด้านการพัฒนาการค้าและการลงทุนต่อไป

สำหรับเหตุผลในการเลือกจังหวัดภูเก็ตเป็นสถานที่การประชุมเนื่องจากจังหวัดภูเก็ต มีจุดเด่น ด้านการท่องเที่ยว ของภาคใต้ และมีความพร้อม และสิ่งอำนวยความสะดวกหลายอย่าง จึงมีความพร้อมในการจัดการประชุมระหว่างประเทศ และการจัดกิจกรรมการประชุมดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลดีในระดับพื้นที่ภาคใต้ และในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้เป็นการตอกย้ำให้ผู้เข้าร่วมประชุมจากทุกประเทศได้เข้าใจว่าประเทศไทยได้เปิดรับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ และในอนาคตนอกเหนือจากการประชุมในครั้งนี้แล้วจะมีการประชุมอื่นๆที่จะมาจัดที่จังหวัดภูเก็ตเพิ่มเติมด้วย ดังนั้นจังหวัดภูเก็ตจะได้รับประโยชน์จากเรื่องนี้ด้วยเช่นเดียวกัน

Subscribe