ขนส่งเปิดวงถกแก้ปัญหารถรับจ้าง

ขนส่งเปิดวงถกแก้ปัญหารถรับจ้าง ให้ราชภัฎภูเก็ตศึกษาข้อมูลความต้องการใช้รถรับจ้าง ก่อนตัดสินใจจำกัดจำนวนหรือเปิดเสรี

ขนส่งภูเก็ต เปิดวงหารือ แก้ปัญหารถรับจ้าง พร้อมให้ราชภัฎภูเก็ตศึกษาสำรวจวิจัยข้อมูลความต้องการใช้รถรับจ้างแต่ละประเภท ใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจ จำกัดหรือไม่จำกัดจำนวนรถรับจ้าง เพื่อแก้ปัญหาทะเลาะเบาะแว้งและไม่ให้เกินความต้องการ

ที่ ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายศรัทธา ทองคำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานแก้ปัญหารถรับจ้างสาธารณะในจังหวัดภูเก็ต โดยมี พ.ต.อ.ภาสกร สนธิกุล รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต นายอัดชา บัวจันทร์ ขนส่งจังหวัดภูเก็ต รวมถึงหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ ท่องเที่ยวและกีฬา ตำรวจท่องเที่ยว หอการค้าจังหวัดภูเก็ต ตัวแทนกลุ่มรถรับจ้างทุกกลุ่มในภูเก็ต ฯลฯ เข้าร่วม

ทั้งนี้เพื่อร่วมกันหาแนวทางในการแก้ไขปัญหารถรับจ้างในจังหวัดภูเก็ต โดยทางขนส่งจังหวัดภูเก็ตและตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ตได้รายงานการจับกุมรถรับจ้างผิดกฎหมาย ตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมาจนถึงเดือน พ.ค.นี้ จำนวน 140 กว่าคัน พร้อมทั้งมีการพักใช้ใบอนุญาตอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม กลุ่มรถจับจ้างกลุ่มต่างๆ ได้นำเสนอปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ จากการที่มีการจดทะเบียน รย.18 เพื่อให้บริการผ่านแอพพลิเคชั่น ที่มีจำนวนมาก การนำรถแท็กซี่จากกรุงเทพฯเข้ามาวิ่งในพื้นที่ภูเก็ต ร่วมไปถึงการนำรถป้ายเขียวจากนอกพื้นที่มาวิ่งในภูเก็ต รวมไปทั้งตัวแทนรถรับจ้างบางกลุ่มเสนอให้มีการจำกัดจำนวนรถรับจ้างแต่ละประเภทเพื่อไม่ให้มีจำนวนรถมากจนเกินไป จนเกิดการแย่งงานกันเกิดขึ้น โดยข้อเสนอทั้งหมดจะนำเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตต่อไป

นายอัดชา บัวจันทร์ ขนส่งจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาการทะเลาะเบาะแว้งของรถรับจ้างในจังหวัดภูเก็ต สำนักงานขนส่งจังหวัดภูเก็ตได้ให้มหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต ทำการศึกษาสำรวจข้อมูลตามหลักวิชาการที่ถูกต้องและเหมาะสมว่า จังหวัดภูเก็ตควรที่จะมีรถรับจ้างแต่ละประเภทจำนวนเท่าไหร่ซึ่งจะเหมาะสมกับความต้องการของนักท่องเที่ยวและผู้ใช้บริการ เพราะขณะนี้มีผู้ประกอบการรถรับจ้างหลายกลุ่มต้องการที่จะให้จำกัดจำนวนรถรับจ้าง และมีบางกลุ่มที่ไม่ต้องการให้จำกัดจำนวน

ดังนั้นเพื่อให้ข้อมูลทางวิชาการที่ถูกต้องและเหมาะสม ทางขนส่งจังหวัดภูเก็ต จึงได้ติดต่อไปยังมหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต ให้เข้ามาทำการสำรวจข้อมูลเชิงวิจัยที่ถูกต้องถึงความเหมาะสมของจำนวนรถรับจ้างแต่ละประเภท และเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการที่จะตัดสินใจว่า จะมีการจำกัดจำนวนหรือไม่จำกัดจำนวนรถรับจ้าง ซึ่งผลการศึกษาจะแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือน ก.ค.ที่จะถึงนี้

อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่รอผลการศึกษา ขนส่งจังหวัดภูเก็ตได้ชะลอการจดทะเบียนรถยนต์รับจ้างผ่านทางอิเลคทรอนิก หรือ รถ รย.18 ไปก่อน เพื่อรถปัญหาความการทะเลาะเบาะแว้ง โดยขณะนี้ได้มีการจดทะเบียนรถ รย.18 ไปแล้วกว่า 1,800 คัน

ขนส่งจังหวัดภูเก็ต กล่าวต่อว่า สำหรับรถรับจ้างสาธารณะในจังหวัดภูเก็ตนั้น ไม่ว่าจะเป็น รย.18 (เรียกผ่านแอพพลิเคชั่น) รถยนต์บริการ (ป้ายเขียว) รถแท็กซี่ รถ VIP รถรับจ้างประจำทางและไม่ประจำทาง มีอยู่ประมาณ 15,000 คน ส่วนรถยนต์ส่วนบุคคลนั้นมีอยู่ประมาณ 300,000 คัน

“ทางขนส่งพยายามที่จะแก้ไขปัญหาให้กับรถรับจ้างทุกประเภท เพื่อให้ทุกคนสามารถประกอบอาชีพร่วมกันได้ในบริบทของพื้นที่ภูเก็ตได้” ขนส่งจังหวัดภูเก็ต กล่าว

ส่วนกรณีที่บริษัทเอกชนนำรถแท็กซี่และรถยนต์เข้ามาเพื่อจดทะเบียนวิ่งรับจ้างในภูเก็ตนั้น ขนส่งจังหวัดภูเก็ต ระบุว่า เรื่องนี้อยู่ในวาระการพิจาราว่าจะมีการจำกัดจำนวนหรือไม่ ซึ่งการที่เอกชนเข้ามาลงทุนนำรถเข้ามานั้น อาจจะเกี่ยวเนื่องกับความต้องการของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ภูเก็ต เพราะหากไม่มีคนมาเช่ารถที่ได้นำเข้ามา เอกชนก็ไม่น่าจะที่เข้ามาลงทุนในส่วนนี้ แต่เรื่องนี้ได้เกิดเป็นกระแสถึงผลกระทบต่อผู้ประกอบการรถรับจ้างที่อยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว จึงจำเป็นที่จะต้องศึกษาถึงความเหมาะสมของการจดทะเบียนรถรับจ้างแต่ละประเภท เพื่อให้เกิดความสมดุลย์ของจำนวนรถกับผู้ใช้บริการที่ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและชาวไทย

Subscribe