คลื่นยังซัดคราบน้ำมันขึ้นหาดในภูเก็ตต่อเนื่อง แต่น้อยลงเหลือแค่ก้อนเล็กๆ ด้าน รองอธิบดี ทช.ระบุจุดกำเนิดคราบน้ำมันอยู่ที่บริเวณล่องน้ำเดินเรือห่างจากภูเก็ตไปทางทิศตะวันตก 80-90 ไมล์ทะเล หวั่นกระทบปะการังและสัตว์ทะเลทรายใต้ หากไม่จัดเก็บทันที เต่าตายแล้ว 1 ตัว ฝ่าพบกลืนคราบน้ำมันลงไป
จากกรณีที่คลื่นซัดคราบน้ำมันขึ้นมาเกยหาดในพื้นที่ภูเก็ตหลายหาดในขณะนี้ โดยเฉพาะหาดในยาง ซึ่งมีปริมาณน้ำมันมากที่สุด หาดไม้ขาว หาดในทอน หาดป่าตอง และเกาะราชา ทางจังหวัดภูเก็ตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งกำจัดคราบน้ำมันด้วยการเก็บกวาดทำความสะอาดมาอย่างต่อเนื่อง จนถึงขณะนี้คลื่นยังซัดคราบน้ำมันขึ้นมาตามหาดต่างๆ แต่มีปริมาณที่ลดลงและเป็นก้อนเล็กๆ
ดร.พรศรี สุทธนารักษ์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้หารือร่วมกับ นายอำนวย พิณสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เพื่อรายงานสถานการณ์คราบน้ำมันในภูเก็ตโดยภาพรวม และแนวทางในการแก้ปัญหาเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ชายฝั่ง รวมถึงผลกระทบด้านอื่นๆ ณ ห้องรับรอง ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต
ดร.พรศรี สุทธนารักษ์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า วันนี้มาหารือร่วมกับทางจังหวัดภูเก็ต เพื่อรายงานภาพรวมของปัญหาคราบน้ำมันที่ถูกคลื่นซัดขึ้นตามหาดต่างๆ ในภูเก็ต ตั้งแต่วันที่ 2 ส.ค.เป็นต้นมา โดยเริ่มจากทางตอนเหนือของจังหวัดพังงาและค่อยๆไล่ลงมาตามหาดต่างๆ ของภูเก็ต จนเมื่อวันที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมาได้ไปถึงเกาะราชาใหญ่ แม้ว่าปริมาณคราบน้ำมันที่คลื่นซัดขึ้นมาตามชายหาดในขณะนี้จะมีปริมาณไม่มากและเป็นก้อนเล็กๆ แต่สิ่งที่ความกังวลคือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทั้งในส่วนของปะการัง ตั้งแต่จังหวัดพังงามาจนถึงภูเก็ต ครอบคลุมเนื้อที่ประมาณ 4 พันกว่าไร่ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในทรายในหาดที่มีปริมาณน้ำมันมากๆ ซึ่งในส่วนของผลกระทบที่เกิดขึ้นกับปะการังนั้นทางกรมฯจะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปสำรวจความเสียหายหลังจากคลื่นลมสงบ
รวมไปถึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยว เพราะบางหาดคลื่นยังซัดคราบน้ำมันก้อนเล็กๆ เข้ามาอยู่ตลอดเวลา นักท่องเที่ยวมองไม่เห็น อาจจะเหยียบก้อนมันทำให้เลอะเทอะได้ ซึ่งจุดนี้จะช่วยเหลือและชี้แจงนักท่องเที่ยวอย่างไร
ดร.พรศรี กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ทางกรมฯได้จัดทำโมเดลศึกษาวิเคราะห์การเข้ามายังฝั่งของคราบน้ำมัน โดยใช้แบบจำลอง ซึ่งจากการศึกษาพบว่า แหล่งกำเนิดของน้ำมันในทะเลครั้งนี้ น่าจะอยู่ที่บริเวณทางทิศตะวันตกของเกาะภูเก็ต ห่างจากชายฝั่งประมาณ 80-90 ไมล์ทะเล หรือประมาณ 140 กว่ากิโลเมตร และคลื่นลมทะเลได้พัดเข้าฝั่งที่พังงาและค่อยๆไล่มาที่ภูเก็ต สอดคล้องกับข้อมูลของกรมเจ้าท่าที่ได้ตรวจสอบย้อนหลังไปก่อนที่น้ำมันจะถูกคลื่นซัดเข้าฝั่ง 1 สัปดาห์ว่ามีเรืออะไร และเรือประเภทไหนบ้าง ที่วิ่งผ่านในบริเวณดังกล่าว
สำหรับแนวทางในการป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้น รองอธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดในการป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบในทุกๆด้าน คือ จะต้องเร่งจัดเก็บให้เร็วที่สุด หากเก็บช้าน้ำมันอาจจะซึมลงไปในทรายและอาจจะส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลที่อยู่ในระบบนิเวศน์ชายหาดและหาดหิน เช่น ปู หอย เพี้ยง เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่อเตาทะเลที่ถูกเคลือบน้ำมัน และเมื่อวานมีเต่าตาย 1 ตัว เมื่อผ่าออกมาปรากฎว่าเต่าได้กินน้ำมันเข้าไป
สำหรับปริมาณมันน้ำที่ถูกคลื่นซัดขึ้นฝั่งขณะนี้น้อยลงเรื่อยๆ และเป็นก้อนเล็กๆ แต่จะต้องดูว่าปริมาณน้ำมันว่ายังตกค้างอยู่ในทะเลมากน้อยแค่ไหน และปริมาณการจัดเก็บตามหาดต่างๆ ขณะนี้ ที่หาดในยางถือว่ามากที่สุด เก็บได้แล้วถึง 2 ตัน และเกาะราชาอีก 1 ตัน
ด้าน นายอำนวย พิณสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ในส่วนของจังหวัดภูเก็ตนั้น ก่อนหน้านี้ได้มีการระดมกำลังเก็บก้อนน้ำมันและทำความสะอาดไปแล้ว และได้มีการสั่งการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบประสานกับทางพื้นที่ดูแลในการจัดเก็บคราบและก้อนน้ำมันให้เร็วที่สุดเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ประชาชน และนักท่องเที่ยว และสร้างการรับรู้ให้ประชาชนได้รับทราบว่าพบคราบน้ำมันและเหยียบก้อนน้ำมันจะต้องทำอย่างไร
ขณะที่ นายณชพงศ ประนิตย์ ผอ.สำนักงานเจ้าท่าภูเก็ต กล่าวว่า สำนักงานเจ้าท่าภูเก็ตได้รับมอบจากทางจังหวัดภูเก็ตให้ทำการตรวจสอบข้อมูลเรือที่เข้ามาในน่านภูเก็ตในช่วงก่อนที่คลื่นจะซัดคราบน้ำมันเข้าฝั่งนั้น เจ้าท่าภูเก็ต ได้ร่วมกับ เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ควบคุมจราจรและความปลอดภัยทางทะเลอันดามัน (CSCA.) ตรวจสอบเรือผ่าน ระบบ VTS. ที่วิ่งผ่านชายฝั่งตะวันตกของเกาะภูเก็ต ออกไปเป็นระยะทาง 95 nautical mile และมีโอกาสเข้าข่ายที่จะสามารถกระทำความผิดได้ ภายในช่วงระยะเวลา 7 วันย้อนหลัง ช่วงระหว่างวันที่ 26 ก.ค – 3 ส.ค.66 พบว่าว่ามีทั้งหมด 81 ลำ เป็นเรือสินค้า 62 ลำ เรือ Tanker 18 ลำ และเรือ Tug Supply 1 ลำ