ทันตแพทย์หญิง ศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และคณะ เดินทางมาติดตามสถานการณ์น้ำท่วมดินโคลนถล่มในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต
นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ให้การต้อนรับทันตแพทย์หญิง ศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และคณะ ในโอกาสเดินทางมาติดตามสถานการณ์น้ำท่วมดินโคลนถล่มในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต
โอกาสนี้นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้กล่าวรายงานภาพรวมข้อมูล สถานการณ์อุทกภัยของจังหวัดภูเก็ต ได้เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องตั้งแต่คืนวันที่ 22 สิงหาคม 2567 ถึงเช้าวันที่ 23 สิงหาคม 2567 วัดปริมาณน้ำฝนได้ 200 มิลลิเมตร ส่งผลให้เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2567 เวลา 05.00 น. เกิดเหตุดินโคลนถล่มทับบ้านเรือนประชาชน ได้รับผลกระทบ จำนวน 1 อำเภอ คือ อำเภอเมืองภูเก็ต รวม 3 ตำบล 9 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 260 ครัวเรือน 817 คน มีพบผู้เสียชีวิต จำนวน 13 ราย เป็น เพศหญิง จำนวน 8 ราย เพศชาย จำนวน 5 ราย โดยแยกเป็นชาวไทย จำนวน 3 ราย (เพศหญิง จำนวน 2 ราย เพศชาย 1 ราย) ชาวรัสเซีย จำนวน 2 ราย (เพศหญิง จำนวน 1 ราย และเพศชาย จำนวน 1 ราย) ชาวเมียนมาร์ จำนวน 9 ราย (เพศหญิง จำนวน 5 ราย และเพศชาย จำนวน 4 ราย) นอกจากนี้ มีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก จำนวน 19 ราย
ในส่วนของพื้นที่ตำบลกะรน อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต พบว่าเมื่อปี 2557 ได้เกิดดินสไลด์มาก่อนแต่ในครั้งนั้นเกิดในพื้นที่ป่าจึงไม่ทับบ้านเรือนประชาชน สำหรับการเกิดเหตุเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2567 ภายหลังเกิดเหตุหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้สำรวจพื้นที่ที่ประสบภัยดินโคลนถล่มพบว่าพื้นที่ที่มีการก่อสร้างอาคารอยู่ในพื้นที่สีเหลืองที่สามารถสร้างบ้านได้แต่พื้นที่มีความลาดชันสูง ส่วนกรณีบ้านพักของแรงงานเมียนมาร์ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงมีผู้เสียชีวิตจำนวน 8 ราย เนื่องจากสภาพบ้านเป็นบ้านเช่ามีการก่อสร้างที่ไม่แข็งแรง แนวทางการแก้ปัญหาขณะนี้จังหวัดได้เร่งเยียวยาช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติในส่วนของผู้เสียชีวิตที่เป็นชาวต่างชาติจังหวัดภูเก็ตได้มีการประสานกงสุลเข้ามาดูแลและประสานงานอย่างใกล้ชิด โดยแรงงานเมียนมาร์ที่เสียชีวิตญาติได้ประสานทำการฌาปนกิจศพในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตจำนวน 7 ราย จากนั้นจะนำอัฐิกลับไปทำบุญที่ประเทศบ้านเกิดและเคลื่อนย้ายกลับประเทศ 1 ราย
โดยจังหวัดภูเก็ตสิ่งที่กังวลคือเรื่องของดินสไลด์ ซึ่งที่ผ่านมาจังหวัดภูเก็ตได้หารือร่วมกับอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ทำการตรวจสอบโครงสร้างดินของจังหวัดภูเก็ต พบว่าอายุดินในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตมีอายุ 91-100 ล้านปี และภาพถ่ายจากการบินสำรวจพื้นที่พบพื้นที่มีจุดรอยเลื่อนหลายจุดโดยกระจายทั้ง 3 อำเภอซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกันกับ 54 จังหวัดทั่วประเทศ สำหรับพื้นที่ภูมิศาสตร์ของจังหวัดภูเก็ตลักษณะมีความลาดชันจึงทำให้เมื่อเกิดฝนตกหนักดินอุ้มน้ำไม่ไหวเกิดดินสไลด์ที่มีความรุนแรง
สำหรับแนวทางการแก้ไขจังหวัดภูเก็ตได้มีการจัดประชุมเบื้องต้นกำหนดจะมีการปลูกพืชคลุมดิน โดยต้นไม้ที่จะวางแผนการปลูกประกอบด้วยต้นไทร กระถินยักษ์ ซึ่งเป็นต้นไม้ที่สามารถเติบโตได้เร็วและขยายพันธุ์ได้เร็ว
ขณะนี้จังหวัดภูเก็ตได้ประสานกรมป่าไม้เพื่อหาเมล็ดพันธุ์ซึ่งเมื่อได้เมล็ดพันธุ์แล้วจะนำขึ้นเฮลิคอปเตอร์เพื่อโปรยลงมาปลูกในพื้นที่เป้าหมาย นอกจากนี้จังหวัดยังได้ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนจัดทำฝายชะลอน้ำ โดยให้วิศวกรทำการออกแบบเพื่อให้เป็นฝายที่มีประสิทธิภาพในการที่จะชะลอน้ำในช่วงฤดูฝน
สำหรับการฟื้นฟูพื้นที่ปัจจุบันทุกวันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะระดมรถฉีดน้ำออกทำความสะอาดถนนและพื้นที่ที่มีดินโคลนไหลลงมาเพื่อคืนพื้นที่ให้กับประชาชนโดยเร็วที่สุดในส่วนของเทศบาลตำบลกะรนได้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาเยียวยาช่วยเหลือประชาชนที่ได้ผลกระทบ
ภายหลังการพูดคุยกับผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตทันตแพทย์หญิง ศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และคณะได้เดินทางลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมและให้กำลังใจแก่ผู้ประสบภัยที่ ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่วัดกิตติสังฆาราม หรือ วัดกะตะ