บินสำรวจพบพะยูนและเต่าทะเลบริเวณพื้นที่จังหวัดภูเก็ต
เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน (ศวอบ.) ปฏิบัติงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนบน (ศวทบ.) และเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนล่าง (ศวทล.)ได้ปฏิบัติการสำรวจสัตว์ทะเลหายากและสถานภาพหญ้าทะเล โดยใช้อากาศยานไร้คนขับชนิดปีกหมุนหลายใบพัด (Multirotor UAV) จำนวน 2 ลำ ด้วยวิธี Line-transect บริเวณพื้นที่จังหวัดภูเก็ต
ดังนี้บริเวณพื้นที่อ่าวป่าคลอก ผลการสำรวจพบพะยูนจำนวน 12 ตัว โดยพบคู่แม่ลูกจำนวน 1 คู่ สามารถตรวจความสมบูรณ์ร่างกายได้ จำนวน 5 ตัว โดยแสดงพฤติกรรมว่ายน้ำขึ้นหายใจบนผิวน้ำ ความสมบูรณ์ร่างกายอยู่ในระดับค่อนข้างผอม (BCS=2/5) จำนวน 1 ตัว ระดับสมบูรณ์ดี (BCS=3/5) จำนวน 3 ตัว ระดับสมบูรณ์อ้วน (BCS=4/5) จำนวน 1 ตัว และพบพะยูนขณะดำน้ำและกินหญ้าทะเลจึงไม่สามารถตรวจความสมบูรณ์ร่างกายได้ จำนวน 7 ตัว เต่าทะเลจำนวน 10 ตัว สามารถตรวจความสมบูรณ์ร่างกายได้จำนวน 3 ตัว ความสมบูรณ์ร่างกายอยู่ในระดับสมบูรณ์ดี (BCS=3/5)
บริเวณอ่าวบางแป สำรวจพบพะยูน จำนวน 2 ตัว สามารถตรวจความสมบูรณ์ร่างกายได้ จำนวน 1 ตัว ความสมบูรณ์ร่างกายอยู่ในระดับสมบูรณ์ดี (BCS=3/5) เต่าทะเลจำนวน 1 ตัว ความสมบูรณ์ร่างกายอยู่ในระดับสมบูรณ์ดี (BCS=3/5)
บริเวณอ่าวตั้งเข็ม พบพะยูนจำนวน 2 ตัว ความสมบูรณ์ร่างกายอยู่ในระดับสมบูรณ์ดี (BCS=3/5) พบเต่าทะเล จำนวน 1 ตัว ขนาดโตเต็มวัย ความสมบูรณ์ร่างกายอยู่ในระดับสมบูรณ์ดี (BSC=3/5)
นอกจากนั้นยังได้ดำเนินการสุ่มสำรวจสถานภาพหญ้าทะเลพื้นที่อ่าวราไวย์ จังหวัดภูเก็ต ด้วยวิธีการ Spot check พบหญ้าทะเล จำนวน 5 ชนิด ได้แก่ หญ้าชะเงาเต่า (Thalassia hemprichii) หญ้าชะเงาใบฟันเลื่อย (Cymodocea serrulata) หญ้าชะเงาใบมน (Cymodocea rotundata) หญ้ากุยช่ายทะเล (Halodule uninervis) และหญ้าเงาใบใหญ่ (Halophila Major) ซึ่งพบว่าหญ้าชะเงาใบมนใบสั้นและกุด แต่ยังคงสภาพความสมบูรณ์ของรากและเหง้า สถานภาพการปกคลุมเล็กน้อย