ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต สร้างพลังการขับเคลื่อนยกระดับคุณภาพการศึกษาของจังหวัดภูเก็ต สู่ความเป็นสากล พร้อมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOA) การพัฒนาเสาหลักด้านการศึกษา EDUCATION HUB สู่ภูเก็ตเมืองศูนย์กลางการศึกษานานาชาติ
ที่ โรงแรมรอยัล ภูเก็ต ซิตี้ นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานพร้อมมอบนโยบายการขับเคลื่อนการศึกษาเชิงพื้นที่ ภายใต้กิจกรรมการขับเคลื่อนการศึกษาของจังหวัดภูเก็ตสู่ความเป็นสากล โดยมี นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ให้การต้อนรับพร้อมกล่าวถึงแนวนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัดภูเก็ตอย่างยั่งยืน โดยการนำการศึกษามาเป็นหนึ่งเสาหลักในการพัฒนาเป็น EDUCATION HUB ภูเก็ตเมืองศูนย์กลางการศึกษานานาชาติ พร้อมรองรับการยกระดับคุณภาพการศึกษาของจังหวัดภูเก็ต สู่ความเป็นสากล ลดความเหลื่อมล้ำ และการมีงานทำที่มั่นคง ซึ่งมีผู้บริหารในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ คณะครู อาจารย์ ผู้บริหารสถานศึกษาในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เข้าร่วมจำนวนมาก
ทั้งนี้ ได้มีการจัดนิทรรศการมีชีวิตจากสถายันการศึกษา เพื่อนำเสนอข้อมูลการศึกษาสู่การพัฒนาที่ตอบสนองพื้นที่ ภายใต้เสาหลัก Education Hub และการแสดงพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 7 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ โอกาสและความเหลื่อมล้ำ/พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา/การศึกษาภูเก็ตสู่ความเป็นสากล/การศึกษาเพื่อการมีงานทำและอาชีพ/การพัฒนาผู้เรียนรอบด้าน/การพัฒนาโรงเรียนกับชุมชนและการศึกษาทางเลือก
จากนั้น ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOA) เสาหลักด้านการศึกษา Education Hub ภูเก็ตเมืองศูนย์กลางการศึกษานานาชาติ ผ่านโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาจังหวัดภูเก็ต ระหว่าง จังหวัดภูเก็ต องค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ หน่วยงานและสถานศึกษา หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในจังหวัดภูเก็ต ในการร่วมกันขับเคลื่อนการบริหารจัดการการศึกษาเชิงพื้นที่ โดยผู้ลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ นำไปสู่การจัดทำแผนปฏิบัติการ เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดภูเก็ต ภายใต้หลักการ การมีส่วนร่วม (participate) การบูรณาการ (Integration) และความยั่งยืน (sustainability) ตามข้อตกลงความเข้าใจใน 8 ประเด็น
โดยเริ่มจากการสร้างโอกาสทางการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ การจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดภูเก็ต (แผนแม่บท 10 เสาหลัก) การพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร การจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำตามความต้องการของพื้นที่ การพัฒนาทักษะดิจิทัล การพัฒนาโรงเรียนคุณภาพชุมชน การบริหารบุคคล และการจัดการศึกษาที่สนองตอบต่อผู้เรียน
นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ตเป็นเมืองของการท่องเที่ยว ที่นอกจากการส่งเสริมภาษาอังกฤษแล้ว จะต้องมีการส่งเสริมภาษาที่ 2 ที่ 3 เพิ่มเข้ามา เช่น ภาษาจีน ภาษารัสเซีย เพื่อเติมเต็มและรองรับภาคการท่องเที่ยว ซึ่งหลักสูตรภาษาอังกฤษ เป็นหลักสูตรที่มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เท่าเทียมมาตรฐานสากล ซึ่งนอกจากหลักสูตรภาษาอังกฤษ การพัฒนาการศึกษาจากความร่วมมือ ต้องนำเทคโนโลยี ศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม และกีฬา มาเป็นส่วนสำคัญ เพราะทุกศาสนาสอนให้ทุกคนเป็นคนดี ด้านศิลปะเพื่อมุ่งให้ทุกคนมีความคิดสร้างสรรค์ ด้านวัฒนธรรมให้มีการรู้จักตนเอง ครอบครัวและท้องถิ่นพื้นที่บ้านเกิด ด้านกีฬา คือการมุ่งพัฒนาให้เด็กมีร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ เพื่อมีศักยภาพในการประกอบอาชีพ ดังนั้น การเติมเต็มพื้นฐานทั้งหมดจะทำให้เด็ก เยาวชน มีศักยภาพ สามารถที่จะเลือกเรียนในสิ่งที่ตนเองต้องการ และทั้งหมดคือการเติมเต็มความเป็นมนุษย์ ที่กระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบนโยบายให้กับผู้บริหารสถานศึกษา เพื่อนำเป็นแนวทางสู่การพัฒนาเด็กและเยาวชนของประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม จังหวัดภูเก็ตนำรากฐานการพัฒนาคน โดยเสาหลักด้านการศึกษา ที่มีวิสัยทัศน์ การเป็นศูนย์กลางการศึกษานานาชาติ (Education Hub) ที่ให้ความสำคัญ กับการพัฒนาคนให้มีคุณลักษณะ สมรรถนะตรงกับความต้องการของพื้นที่ พัฒนาผู้เรียนทุกช่วงวัยสู่การเป็นพลเมือง ที่มีสมรรถนะสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งมิติคุณค่า (Values) ทัศนคติ อุปนิสัย (Attitudes) ทักษะ (Skills) และความรู้(Knowledge) และการเป็นพลเมืองที่มีศักยภาพเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป