ผู้สื่อข่าวรายงาน ที่ ห้องประชุม ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินแห่งชาติ 191 ตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องของจังหวัดภูเก็ต อาทิ ตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต, สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต, ฝ่ายปกครอง, ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง เป็นต้น ร่วมประชุมศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค) และศูนย์บริการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อติดตามผลการปฏิบัติและปัญหาอุปสรรคต่างๆ ของแต่ละจังหวัดที่เกี่ยวข้อง ภายหลังการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตามนโยบายของรัฐบาล ในคราวเดียวกันนี้ยังได้มีการประชุมศูนย์ปฏิบัติการภูเก็ตแซนด์บ็อกภูเก็ตด้วยทั้งนี้ นายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตจังหวัดภูเก็ต กล่าวรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในจังหวัดภูเก็ต ว่า เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวน 139 ราย แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อภายในจังหวัด 133 ราย และภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ 6 ราย โดยมียอดสะสมผู้ติดเชื้อ จำนวน 17,000 ราย ในส่วนของสถานการณ์การครองเตียงยังไม่มีปัญหาและมีเพียงพอรองรับผู้ป่วย ส่วนของการฉีดวัคซีน ได้มีการไปเข็มที่ 1 ไปแล้วกว่า 86% จากเป้าหมายประชากร 547,000 คน เข็ม 2 ฉีดไป 83% และเข็มที่ 3 ฉีดไป 80% ของฐานประชาชน 325,000 คน และยังทยอยฉีดเก็บตกในรายที่ยังเข้าไม่ถึงหรือไม่สามารถลงทะเบียนผ่านภูเก็ตต้องชนะได้
ส่วนการเดินทางเข้ามาตามมาตรการเทสแอนด์โกไม่มีการกักตัว สะสมระหว่างวันที่ 1-28 พฤศจิกายน มีจำนวน 22,979 คน ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ 11,180 คน และ AQ 130 คน หากรวมจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาตามมาตรการเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 1-28 พฤศจิกายนนี้ จำนวน 34,294 คน ส่วนยอดรวมทั้ง 3 มาตรการ นับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 รวมทั้งสิ้น 94,847ราย
อย่างไรก็ตามทางที่ประชุมศูนย์ ศบค. ได้ให้คำแนะนำว่า ขณะนี้ไม่อนุญาตให้เปิดผับบาร์ คาราโอเกะ เปิดได้เฉพาะร้านอาหาร และอนุญาตให้ขายและนั่งดื่มเครื่องแอลกอฮอล์ได้ ตามเวลาที่กำหนด และด้วยภูเก็ตเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวนิยมและคาดหวังว่าจะมาใช้ชีวิตการท่องเที่ยวตามปกติ เช่น ฟูลมูน ปาร์ตี้ชายหาด การเต้นรำในพื้นที่ส่วนกลางของร้าน เป็นต้น ดังนั้นจึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งทำการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเข้าใจกับนักท่องเที่ยวตั้งแต่ก่อนจะเดินทางเข้ามา โดยอาจจัดทำเป็นคู่มือว่า สิ่งใดทำได้หรือไม่ได้ เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาภายหลัง และเชื่อว่านักท่องเที่ยวจะเข้าใจและสามารถปฏิบัติตามได้ รวมถึงฝากให้เจ้าหน้าที่ไปดูเรื่องการเอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยว ซึ่งเรื่องนี้ท่านนายกรัฐมนตรีได้ฝากมาและให้ความสำคัญมาก ซึ่งการจะทำให้สำเร็จได้นั้นก็จะต้องเน้นการสร้างความเข้าใจและขอความร่วมมือ ก่อนที่จะบังคับใช้กฎหมาย