ภูเก็ตยกระดับความร่วมมือกับกระทรวงยุติธรรม UNDP และธนาคารพัฒนา SMEs

การส่งเสริมสิทธิมนุษยชนสำหรับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) จังหวัดภูเก็ต ผ่านความร่วมมือระหว่างจังหวัดภูเก็ต สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) กระทรวงยุติธรรม และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย

ภูเก็ตยกระดับความร่วมมือกับกระทรวงยุติธรรม UNDP และธนาคารพัฒนา SMEs ตั้งเป้าเป็นจังหวัดธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน

จังหวัดภูเก็ต ประเทศไทย 29 พฤษภาคม 2567 – สำนักงานจังหวัดภูเก็ต สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรมและธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในจังหวัดภูเก็ต โดยพิธีลงนามได้จัดขึ้น ณ โรงแรมดารา จังหวัดภูเก็ต ซึ่ง MOU ฉบับนี้ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในจังหวัดภูเก็ต โดยมีนางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชน เข้าร่วมเป็นเกียรติในพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ดังกล่าว

พิธีลงนาม MOU มีจุดมุ่งหมายส่งเสริมการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบและเคารพสิทธิมนุษยชนในกลุ่มธุรกิจ SMEs ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ต ในปัจจุบันภาคธุรกิจในจังหวัดภูเก็ตมีการจ้างงานมากกว่า 300,000 คน และมีกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs มากถึง 46,000 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคธุรกิจการท่องเที่ยว

นางสาวรตญา กอบศิริกาญจน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงแนวทางการดำเนินงานตามกรอบบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ว่า “วัตถุประสงค์ของ MOU เพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบ เราคาดหวังให้ความร่วมมือครั้งนี้เป็นพลังสำคัญที่จะร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs ตระหนักถึงความสำคัญของการประกอบธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชนอย่างครอบคลุมทุกมิติ และเพื่อเป็นการขับเคลื่อนการดำเนินงานสนับสนุน SMEs ในการประกอบธุรกิจสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเกิดเครือข่ายองค์กรธุรกิจต้นแบบที่ดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบและเคารพสิทธิมนุษยชน สามารถพัฒนาไปสู่การเป็นองค์กรที่มีนโยบายหรือแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชน”

นายกองเอก อดุลย์ ชูทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตเปิดเผยว่า “ในระยะเวลาที่ผ่านมาจังหวัดภูเก็ตได้เผชิญกับความท้าทายต่างๆ รวมถึงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของจังหวัด ซึ่งการดำเนินธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยผลกำไรแต่เพียงอย่างเดียวอาจต้องแลกมาด้วยสภาพการทำงานที่ไม่เป็นธรรม และผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อม กลุ่มเปราะบาง ไม่ว่าจะเป็นแรงงานข้ามชาติและแรงงานนอกระบบ จะมีความเสี่ยงที่จะถูกทิ้งไว้ข้างหลังมากขึ้น ดังนั้น การรับรองว่าธุรกิจมีการดำเนินงานอย่างรับผิดชอบ และการเคารพสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชนของเราต่อไป”

นายเรอโน เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย ชี้ว่า “จากผลการสำรวจความก้าวหน้าด้านเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของจังหวัดภูเก็ตในมิติต่างๆ ที่ UNDP ได้จัดทำขึ้น แสดงให้เห็นถึงความเป็นเลิศของจังหวัดภูเก็ตด้านการดูแลสุขภาพของประชาชน (SDG 3) การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและธุรกิจไมซ์ (SDG 8) และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (SDG 9) อย่างไรก็ตาม ภูเก็ตยังเผชิญกับความท้าทายในด้านการจัดการแรงงานนอกระบบ (SDG 8) อัตราการว่างงานที่สูง และการจัดการขยะที่ไม่เพียงพอ (SDG 11) โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว ทั้งนี้ความร่วมมือภายใต้ MOU จะนำไปสู่การสร้างกรอบการทำงานของแต่ละภาคส่วนอย่างเข้มแข็งเพื่อสร้างความสำเร็จทางธุรกิจ ควบคู่ไปกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

นางสาวดวงดาว เกียรติพิศาลสกุล รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า “ความร่วมมือภายใต้ MOU นี้มีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนและหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนไปสู่ระดับภูมิภาค ที่ผ่านมากรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพมีการดำเนินงานเชิงรุกกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ เพื่อส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจในหน้าที่ และบทบาทของแต่ละฝ่ายในการผลักดันเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย จังหวัดภูเก็ตถือเป็นหนึ่งในพื้นที่
ยุทธศาตร์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อวาระดังกล่าว เนื่องจากจำนวนผู้ประกอบการภาคธุรกิจ และความพร้อมของหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม ความร่วมมือภายใต้ MOU ครั้งนี้จึงถือได้ว่ามีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการขับเคลื่อนแผนงานและหลักการสิทธิมนุษยชนในระดับภูมิภาค เพื่อขยายผลไปยังจังหวัดอื่นๆ ต่อไปในอนาคต”

นายพิชิต มิทราวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ กล่าวปิดท้ายว่า “ทาง SME D Bank ทุ่มเทเพื่อเสริมสร้างแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนในกลุ่มลูกค้า SMEs ของเรา โดย MOU ครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงก้าวสำคัญในการให้การสนับสนุนแก่กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs เพื่อบูรณาการไปสู่การดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบ ซึ่งจะผลต่อถึงความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการกลุ่มนี้อย่างยั่งยืนในระยะยาว และการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อชุมชน และสิ่งแวดล้อมไปอย่างควบคู่กัน”

กิจกรรมแรกภายใต้กรอบความร่วมมือนี้จะเป็นการอบรมหลักสูตรสองวันด้านการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน และเคารพสิทธิมนุษยชนสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30-31 พฤษภาคม เพื่อช่วยให้ผู้เข้าร่วมอบรมสามารถจัดการประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนในการดำเนินธุรกิจผ่านกระบวนการติดตามตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน โดยกิจกรรมดังกล่าวถือเป็นก้าวแรกในการสร้างเสริมความรู้ และความเข้าใจด้านสิทธิมนุษยชนให้แก่ผู้ประกอบการ ซึ่งคาดหวังว่าจะนำไปสู่การสร้างเครือข่ายภาคธุรกิจ SMEs ที่มีความเข็มแรง และเป็นต้นแบบด้านการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมให้พื้นที่อื่นๆ ต่อไป

Subscribe