สํานักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และกรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ ในการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อสนับสนุนการวิเคราะห์ และการใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ทางด้านอุตุนิยมวิทยา
กรมอุตุนิยมวิทยา นำโดย ดร.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ร่วมกับ สํานักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นำโดย นายพรชัย หอมชื่น ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือดีป้า ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ ในการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อสนับสนุนการวิเคราะห์ และการใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ทางด้านอุตุนิยมวิทยา ระหว่าง อุตุนิยมวิทยา และสํานักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีนายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ร่วมงานในฐานะพยานกิตติมศักดิ์ และนายธนาวุฒิ ปัญจพรอุดมลาภ รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ฝ่ายปฏิบัติการ และ นายแพทย์ธนกฤต จินตวร รองผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ ร่วมลงนามเป็นพยาน ณ ห้องประชุมหมี่หุ้นแกงปู บริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง จํากัด จังหวัดภูเก็ต
การลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือฯ ในครั้งนี้ เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มสนับสนุนการวิเคราะห์และการใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ด้านอุตุนิยมวิทยา ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) การเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning) ข้อมูลมหัต (Big Data) และการพัฒนาภาครัฐให้เป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญา (Intelligent Organization) พัฒนาการบริหารจัดการข้อมูลด้านอุตุนิยมวิทยาให้เป็นระบบและครบวงจร (Data Management Life Cycle) โดยมุ่งหวังเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการวิเคราะห์และตัดสินใจบนหลักฐานเชิงประจักษ์ รวมทั้งการสร้างนวัตกรรมบริการสาธารณะที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนและทุกภาคส่วนอย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากนี้ ดีป้ามีแผนงานร่วมมือกับ Startups พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ใช้ประโยชน์จากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยาในด้านการท่องเที่ยว ผ่านการจัดงาน Hackathon ในงาน Travelution ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ด้วยการเชื่อมต่อข้อมูลผ่าน APIs ทำให้ทราบพยากรณ์อากาศเป็นรายพื้นที่ ทำให้ช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวในหลายมิติ เช่น มิติของนักท่องเที่ยวที่สามารถทราบข้อมูลสภาพอากาศในพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญ รวมทั้งยังสามารถนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ เช่น วางแผนก่อสร้าง และการออกแบบสถาปัตยกรรม เป็นต้น
ภายในงาน กรมอุตุนิยมวิทยา สํานักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (GBDi) ได้นำเสนอและสาธิตการประยุกต์ใช้ข้อมูลอุตุฯ เพื่อประโยชน์ในภาคอสังหาริมทรัพย์ การเกษตร การท่องเที่ยว และการเดินเรือ รวมทั้งมีการเสวนาการใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ทางด้านอุตุนิยมวิทยาในเชิงธุรกิจ ร่วมกับ บริษัทภูเก็ตพัฒนาเมือง สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต และสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดภูเก็ต
โดยข้อมูลกรมอุตุฯนั้น นอกจากส่วนของข้อมูลตรวจวัดและข้อมูลพยากรณ์แล้ว ยังมีในส่วนของอุตุนิยมวิทยาเกษตร อุตุนิยมวิทยาทะเล อุตุนิยมวิทยาการบิน และอุทกวิทยา อีกด้วย ซึ่งปัจจุบัน ทางกรมอุตุฯได้พัฒนาข้อมูลทั้งในแง่ของปริมาณและคุณภาพ มีการติดตั้งสถานีอัตโนมัติ (AWS) 105 สถานี และมีการพัฒนาข้อมูลต่างๆ อาทิเช่น การพัฒนาข้อมูลเรดาร์ โดยการทำ radar composite การพัฒนาข้อมูลพยากรณ์อากาศจากแบบจำลองโดยการทำ downscaling สำหรับพื้นที่ประเทศไทย นอกจากนั้น ยังมีแผนการพัฒนาข้อมูลพยากรณ์ในอนาคตโดยการทำ data assimilation อีกด้วย ซึ่งจะเป็นการผนวกข้อมูลตั้งต้น ทั้งจากข้อมูลตรวจวัดรายสถานี และข้อมูลตรวจวัดจากเรดาร์และดาวเทียม มาใช้ประกอบการพยากรณ์อากาศบนแบบจำลองเพื่อให้เกิดความแม่นยำมากยิ่งขึ้น ซึ่งการพัฒนาข้อมูลอุตุนิยมวิทยานี้ จะสามารถสนับสนุนการทำงานและการวางแผนการดำเนินงานของของทั้งภาครัฐและเอกชนได้ ในส่วนของภาคประชาชน จะสามารถเข้าถึงข้อมูลอุตุนิยมวิทยาในด้านต่างๆ เพื่อประโยชน์ต่อการดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้