วางฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการัง 3D Printing Solution อ่าวสยาม เกาะราชาใหญ่

วางฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการัง 3D Printing Solution อ่าวสยาม เกาะราชาใหญ่

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ SCG โดย CPAC Green Solution โดยการสนับสนุนของบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ดำเนินการจัดวางฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการัง 3D Printing Solution ในบริเวณพื้นที่อ่าวสยาม เกาะราชาใหญ่ จังหวัดภูเก็ต..//
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ SCG โดย CPAC Green Solution ดำเนินการจัดวางวัสดุฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการัง 3D Printing จำนวน 88 ชุด ในบริเวณแนวปะการังที่เสื่อมโทรมพื้นที่อ่าวสยาม เกาะราชาใหญ่ จังหวัดภูเก็ต ซึ่งได้รับมอบวัสดุฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการังจากบริษัทไทยยูเนี่ยน ภายใต้โครงการรักษ์ทะเล ในการจัดวางครั้งนี้มีนายวีระพันธุ์ ทองมาก ผู้อำนวยการส่วนฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล กองอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล, นายไพทูล แพนชัยภูมิ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์และกำหนดมาตรการจัดการทรัพยากรทางทะเล กองอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล, นายอดัม เบรนนัน ผู้อำนวยการกลุ่มด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ปจำกัด (มหาชน), นายสุขธวัช พัทธวรากร ผู้อำนวยการทรัพยากรธรรมชาติและพันธกิจสังคม เอสซีจี ตลอดจนอาสาสมัครนักดำน้ำ ผู้ประกอบการในพื้นที่เกาะราชาใหญ่ นักดำน้ำอาสาสมัครชาวต่างชาติในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตเข้าร่วม

นายไพทูล แพนชัยภูมิ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์และกำหนดมาตรการจัดการทรัพยากรทางทะเล ฯ กล่าวว่า พื้นที่แนวปะการังเกาะราชาใหญ่ อ่าวสยามจังหวัดภูเก็ต มีประมาณ 50 ไร่ จากการสำรวจสภาพโดยทั่วไปในหลายพื้นที่ส่วนใหญ่พบว่ามีสภาพเสื่อมโทรมบางบริเวณเสียหายสูญเสียพื้นที่อย่างถาวร เหลือแต่พื้นทราย ซึ่งมาจากหลายสาเหตุ ทั้งกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำ การทิ้งสมอเรือ และการฟอกของปะการังตามธรรมชาติ และสามารถฟื้นตัวเองได้ยาก เนื่องจากมีปัจจัยอย่างที่มีผลกระทบต่อการลงเกาะของตัวอ่อน และการเจริญเติบโตของปะการัง การเพิ่มขึ้นของตะกอน กิจกรรมการท่องเที่ยวในพื้นที่ที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นทำให้รบกวนการฟื้นตัวของปะการัง โดยเฉพาะพื้นที่แห่งนี้เดิมที่ปะการังเขากวางหรือปะการังที่มีความเปราะบาง แทรกปนอยู่กับปะการังโขด พบว่าเมื่อปะการังเหล่านี้ตายก็จะเหลือซากที่เป็นหินปูน และนานวันเข้าก็จะผุกร่อน หักยุบตัวลงเป็นเศษชินส่วนเล็ก โดยปกติซากปะการังเหล่านี้ก็จะเป็นฐานสำหรับให้ตัวอ่อนปะการังที่มีอยู่ตามธรรมชาติลงเกาะ และเจริญเติบโตต่อไปได้และต้องใช้ระยะเวลาหลายปี ในช่วงที่ยังไม่มีตัวอ่อนลงเกาะหรือเคลือบซากเมื่อมีคลื่นก็จะถูกคลื่นซัดขึ้นบนฝั่งหรือออกไปนอกแนวปะการังในที่น้ำลึก ทำให้เป็นพื้นที่ที่มีเศษปะการังกลายเป็นพื้นทราย และไม่เหมาะกับที่ตัวอ่อนปะการังลงเกาะ เนื่องจากจะต้องเป็นพื้นที่แข็งเท่านั้น และพื้นที่เกาะราชาใหญ่โดยเฉพาะอ่าวต่าง ๆ รวมถึงอ่าวสยามเป็นจุดสอนดำน้ำ จุดท่องเที่ยวดำน้ำลึก ดำน้ำแบบไทรยไดฟ์ที่มีนักท่องเที่ยวลงแต่ละวันเป็นจำนวนมาก พื้นที่ที่ที่เคยเป็นเศษซากปะการังหรือพื้นทรายเหล่านี้จะถูกเหยียบย่ำ รบกวนอยู่ตลอดเวลาเมื่อมีตัวอ่อนไม่สามารถลงเกาะและเติบโตได้ จึงจำเป็นต้องปรับพื้นท้องทะเลหรือพื้นทรายที่แทรกอยู่ระหว่างแนวปะการังให้เหมาะสมกับการลงเกาะของตัวอ่อน

“ที่ผ่านมากรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ดำเนินการฟื้นฟูปะการังทั้งการปลูกปะการังและการจัดวางฐานลงเกาะรูปแบบต่าง ๆ เช่น รูปโดม สี่เหลี่ยม หรือการวางอิฐบลอกในพื้นที่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ อย่างไรก็ตามเนื่องจากพื้นที่เกาะราชาเป็นแหล่งท่องเที่ยว ทำให้วัสดุที่วางลงไปมีสภาพไม่สวยงามอยู่กับแนวปะการัง จึงได้คิดค้นหาวิธีการที่จะหาวัสดุที่มีสภาพกลมกลืน สวยงาน หรือใกล้เคียงกับแนวปะการังธรรมชาติมาจัดวาง จึงเป็นที่มาของการพัฒนาวัสดุฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการัง โดยกองอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ร่วมกับ SCG CPAC Green Solution และคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนได้วัสดุคอนกรีตที่ใช้เทคโนโลยี 3D Printing ซึ่งออกแบบจำลองรูปทรงของปะการังธรรมชาติชนิดต่าง ๆ โดยมีแนวคิดมีสภาพกลมกลืนกับธรรมชาติ มีความแข็งแรง คงทน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล มีความซับซ้อนเป็นที่อยู่ของสัตว์น้ำได้ด้วย และที่สำคัญมีน้ำหนักไม่มาก สามารถติดตั้ง ขนย้าย ได้สะดวก นักดำน้ำสามารถดำน้ำเคลื่อนย้ายได้ใต้น้ำเพื่อประหยัดงบประมาณ และเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของนักดำน้ำมาช่วยจัดวาง ซึ่งเป็นไปตามแนวทางของกรม ที่เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน”

นายไพทูล กล่าวอีกว่า ในครั้งนี้บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณดำเนินการ ซึ่งในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตบริษัทฯ จะสนับสนุนดำเนินการต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 ปี จากปีนี้เป็นต้นไป หลังการจัดวางในครั้งนี้คาดว่าจะใช้ระยะเวลา 1 ปี ปะการังจึงจะเริ่มลงเกาะ หลังการจัดวางครั้งนี้จะมีกิจกรรมของกรมฯ ต่อเนื่อง โดยนักดำน้ำอาสาสมัครในพื้นที่จะเก็บเศษชิ้นส่วนปะการังที่แตกหักอยู่ตามพื้นที่และยังมีชีวิตอยู่ไปติดบนฐาน เรียกว่าเป็นการปลูกปะการัง จะช่วยให้ฐานเหล่านี้มีปะการังลงเกาะและจะปกคลุมวัสดุได้เร็วขึ้น โดยจะมีการติดตามเป็นระยะๆ ต่อไป นอกจากนี้ กรม ทช. จะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการร้านดำน้ำในพื้นที่ซึ่งมีนักดำน้ำที่ผ่านการฝึกอบรมของกรม ทช. สามารถจัดกิจกรรมนำนักท่องเที่ยวมาปลูกปะการังในพื้นที่ โดยอยู่ภายใต้การกำกับของเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายต่อไป

Subscribe