สทช.10 เร่งขยายผลหาพ่อค้าลักลอบนำซากสัตว์ทะเลหายากหลอกขายชาวต่างชาติ
จากนโยบายการป้องกันและปราบปราม การครอบครองและจำหน่ายสัตว์ทะเลหายากใกล้สูญพันธุ์ตามบัญชีแนบท้าย พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ลงวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเพื่อเป็นการคุ้มครองสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม (Marine Mammal Protection Act: MMPA) และป้องกันการกีดกันทางการค้าสัตว์น้ำไทยของประเทศสหรัฐอเมริกา ล่าสุดสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 10 (สทช.10) โดยศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลจังหวัดภูเก็ต ได้รับการร้องเรียนจากผู้ไม่ประสงค์ออกนาม ว่า มีการนำซากสัตว์ทะเลหายากมาตกแต่งและประดับบ้านหลังหนึ่งในพื้นที่ หมู่ที่ 6 ต.ราไวย์ อ.เมือง จ. ภูเก็ต หลังรับแจ้งได้ประสานเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์ ประจำศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิรีธาร ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน ร่วมกับเจ้าหน้าที่กองกำกับการ 5 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรจังหวัดภูเก็ต และผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 6 ต.ราไวย์ อ.เมืองภูเก็ต ออกปฏิบัติการตรวจสอบบังคับใช้กฎหมาย ตามที่ได้รับแจ้งดังกล่าว
จากการลงพื้นที่ตรวจสอบบ้านหลังที่ได้รับแจ้ง พบมีการนำวัตถุคล้ายซากปะการังขนาดใหญ่มาประดับไว้หน้าบ้าน แต่เมื่อตรวจสอบพบว่า เป็นของประดับที่ทำจากเลซิน นอกจากนี้ยังมีการตรวจพบวัตถุคล้ายกับซี่โครงสัตว์ขนาดใหญ่ ตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า เป็นโครงกระดูกวาฬ ชาวฝรั่งเศส ซึ่งเป็นเจ้าของบ้าน ให้การรับสารภาพว่า เป็นผู้ครอบครองซากดังกล่าว เบื้องต้นอ้างว่า รับซื้อมาจากพ่อค้ารายหนึ่งในพื้นที่ ต.ฉลอง อ.เมืองภูเก็ต โดยบอกว่า เป็นไม้ จึงได้ตัดสินใจซื้อมาประทับบ้าน โดยไม่รู้ว่า เป็นซากวาฬ
ทั้งนี้เจ้าหน้าที่กรมทะเลและชายฝั่ง จึงได้นำซากโครงกระดูกวาฬดังกล่าวไปตรวจสอบสัณฐานวิทยาของโครงกระดูก, ตรวจสอบโดยภาพถ่ายรังสี (X-Ray) และตรวจสอบด้วยเทคนิค Fourier Transform Infrared Spectroscopy (FTIR) สรุปผลยืนยันว่า เป็นโครงกระดูกส่วนขากรรไกรล่างของวาฬกลุ่มซี่กรอง (Baleen whale) พร้อมแจ้งข้อกล่าวหาชาวต่างชาติคนดังกล่าว ในความผิดฐานฝ่าฝืน ตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และนำผู้ต้องหาส่งพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรฉลอง อ.เมืองภูเก็ต เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย และได้มีการนำตัวอย่างส่งพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อระบุสายพันธุ์ของวาฬกลุ่มซี่กรองต่อไป ขณะเดียวกันทางเจ้าหน้าที่ฯ จะได้มีการสืบสวนขยายผลเพิ่มเติมเพื่อหาต้นตอของการค้าซากสัตว์ป่าคุ้มครองดังกล่าวต่อไป
อนึ่งประเทศไทยมีการส่งออกสินค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำไปยังสหรัฐฯ มีมูลค่าสูงถึง 3.99 หมื่นล้านบาท ดังนั้นการประกาศกฎระเบียบในการบังคับใช้ข้อกำหนด ว่าด้วยการนำเข้าสินค้าประมงภายใต้กฎหมายว่าด้วยการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำเพื่อคุ้มครองสัตว์ทะเลที่เลี้ยงลูกด้วยนม (Marine Mammal Protection Act : MMPA) ขององค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Oceanic and Atmospheric Administration : NOAA) ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อประเมินกฎระเบียบข้อบังคับการทำประมง การทำประมงเชิงพาณิชย์ของประเทศที่ส่งสินค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำไปยังสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลกระทบทำให้เกิดการตายหรือบาดเจ็บรุนแรงต่อสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม เช่น โลมา วาฬ พะยูน ฯลฯ จึงส่งผลให้ประเทศคู่ค้ากับสหรัฐอเมริกาและประเทศที่ทำการประมงพาณิชย์ (Havesting Nations) ทั่วโลก อาจเข้าข่ายเสี่ยงต่อการถูกห้ามนำเข้าสินค้าประมง โดยได้ประกาศเริ่มใช้กฎหมาย MMPA เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2560 และกำหนดระยะเวลาผ่อนผัน 5 ปี เพื่อให้ประเทศคู่ค้าได้มีการเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฎระเบียบ MMPA และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไป โดยในช่วงระหว่างการผ่อนผันนี้ ประเทศที่ส่งออกสินค้าประมงไปยังสหรัฐอเมริกา รวมทั้งประเทศไทย ได้มีการจัดส่งข้อมูลต่างๆ เพื่อรายงานสหรัฐฯ อาทิ ข้อมูลสถานภาพสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมในพื้นที่ทำการประมง และข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการทำประมง กฎระเบียบในประเทศ ข้อบังคับด้านการทำประมงเชิงพาณิชย์