องคมนตรีเปิดกิจกรรมโครงการถอดบทเรียนและแนวทางแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ อุทกภัย และดินสไลด์

องคมนตรีเปิดกิจกรรมโครงการถอดบทเรียนและแนวทางแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ อุทกภัย และดินสไลด์ แบบบูรณาการภายใต้แผนงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับจังหวัด ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต

ที่ ห้องประชุมขุนเลิศโภคารักษ์ ศูนย์ประชุมอันดามันพรรณราย มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมโครงการถอดบทเรียนและแนวทางแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ อุทกภัย และดินสไลด์ แบบบูรณาการภายใต้แผนงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับจังหวัด ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตระหว่างวันที่ 7 – 9 ธันวาคม 2565 โดยมี นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาคประชาชน สถานศึกษา และนักเรียนนักศึกษาในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เข้าร่วม

นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตกล่าวว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ในช่วงเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา ประกอบกับปรากฏการณ์ลานีญา ทำให้ฝนตกหนักมากกว่าปกติ และก่อให้เกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติ อุทกภัย และดินสไลด์ ในหลายพื้นที่ของจังหวัดภูเก็ต และส่งผลกระทบจนทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ รวมถึงทรัพย์สินของทางราชการ เช่น ถนนชำรุดเสียหายจนเกิดการจราจรติดขัด เป็นต้น และยังส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและด้านธรณี นอกจากนี้ยังทำให้ประชาชนเกิดความวิตกกังวลในการรับทราบข้อมูลข่าวสารที่ชัดเจนแน่นอน รวมถึงขาดความเชื่อมั่นในการแก้ไขปัญหาของส่วนราชการ การบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น และการแจ้งเตือนภัยที่อาจจะไม่ทั่วถึง จังหวัดภูเก็ตในฐานะผู้อำนวยการจังหวัด ซึ่งรับผิดชอบในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในเขตจังหวัด
ตามความในมาตรา 15 ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 จึงได้บูรณาการกับส่วนราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ค้นหาถึงสาเหตุของการเกิดภัยพิบัติ รวมถึงวางแนวทางการแก้ไขปัญหา และการบริหารจัดการเพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ตลอดจนการนำเสนอข้อมูล ข่าวสาร ให้กับประชาชน นักเรียน นักศึกษา และส่วนราชการ ได้เรียนรู้และทำความเข้าใจกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นซ้ำในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับประเทศไทยได้แสดงเจตนารมณ์พร้อมยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ทุกวิถีทาง เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี พ.ศ.2608 (ค.ศ. 2065) ซึ่งหน่วยงานส่วนกลางกำหนดนโยบาย/มาตรการในระดับประเทศแล้ว หน่วยงานในระดับพื้นที่จึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติ เพื่อให้สามารถผลักดันการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายได้ “จังหวัด” ซึ่งมีบทบาทที่สามารถกำกับดูแล และกำหนดทิศทางการพัฒนาในระดับท้องถิ่น โดยเฉพาะบริบทของการพัฒนาเมืองควบคู่กับการลดก๊าซเรือนกระจก และการรับมือของเมืองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงได้บูรณาการและสร้างการมีส่วนร่วมกับภาคีทุกภาคส่วนในพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อให้การดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

พลเอกดาวพงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี กล่าวว่า การเตรียมการแบบบูรณาการทุกภาคส่วนของจังหวัดภูเก็ตในครั้งนี้ กล่าวได้ว่าสอดคล้องกับแนวทางที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานไว้ จึงอยากขอให้การถอดบทเรียนและแนวทางแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ อุทกภัย และดินสไลด์ แบบบูรณาการ ภายใต้แผนงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของจังหวัดภูเก็ตในครั้งนี้ นำไปสู่การทบทวนจัดทำแผนป้องกันภัยพิบัติ ที่มีประสิทธิภาพพร้อมรองรับพิบัติภัยต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น โดยอาจวิเคราะห์และกำหนด sceanario ความเป็นไปได้ที่หลากหลาย ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ทำความเข้าใจให้ตรงกัน กำหนดบทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบอย่างเป็นระบบ กระชับ รวดเร็ว ไม่ซ้ำซ้อน ซึ่งดูจากความร่วมไม้ร่วมมือในวันนี้ คิดว่าคงจะทำได้ไม่ยากและหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้นำความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากวิทยากร ไปปฏิบัติและพร้อมรับมือกับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นซ้ำในอนาคตได้

สำหรับกิจกรรมฯ ครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของแผนงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับจังหวัด ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต โดยได้รับความอนุเคราะห์การสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาการทำงานร่วมกัน โดยมีกิจรรมหลัก ประกอบด้วย การจัดนิทรรศการ เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในจังหวัดภูเก็ต ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ในรูปแบบ Multivision Multimedia, การจัดเวทีเสวนา นำเสนอข้อมูลเชิงวิชาการ เชิงข้อเท็จจริง และมาตรการป้องกันเกี่ยวกับภัยพิบัติ กำหนดจัดกิจกรรมฯ ในระหว่างวันที่ 7 – 9 ธันวาคม 2565 และจังหวัดภูเก็ตหวังว่าหลังสิ้นสุดกิจกรรม จังหวัดจะสามารถแก้ไขปัญหาและบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติ อุทกภัย และดินสไลด์ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงส่วนราชการมีการบูรณาการความร่วมมือในการวางแนวทางการแก้ไขปัญหา และการบริหารจัดการให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ตลอดจนการนำเสนอข้อมูล ข่าวสาร ให้กับประชาชน นักเรียน นักศึกษา ได้รับทราบข้อเท็จจริง กรณีการเกิดภัยพิบัติ อุทกภัย ดินสไลด์ และประชาชน นักเรียน นักศึกษา มีความตระหนักรู้เกี่ยวกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยเฉพาะการเกิดอุทกภัย และดินสไลด์ และสามารถการรับมือกับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นซ้ำในอนาคตได้อย่างทันท่วงทีต่อไป

Subscribe