ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต แถลงข่าวผู้ว่าราชการจังหวัดพบสื่อมวลชนสรุปสถานการณ์อุทกภัยและการวางแผนป้องกันดินโคลนถล่มระยะยาวของจังหวัดภูเก็ต เร่งสำรวจและติดตั้งตั้งสถานีวัดการเคลื่อนตัวของมวลดิน พร้อมอุปกรณ์ เครื่องมือในการเฝ้าระวังเพื่อแจ้งเตือนภัยแผ่นดินถล่ม และน้ำป่าไหลหลากให้ครอบคลุมในพื้นที่เสี่ยงภัยจังหวัดภูเก็ตซึ่งจะมีประสิทธิภาพแจ้งเตือนภัยได้ก่อนเกิดเหตุ 1 ชั่วโมง วางแผนปลูกต้นไทร กระถินยักษ์ ให้เป็นพืชคลุมดิน และให้วิศวกรออกแบบฝายชะลอน้ำที่มีประสิทธิภาพในการที่จะชะลอน้ำในช่วงฤดูฝน
นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานนำ นายกองเอกอดุลย์ ชูทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต , ดร.สมคิด ช่อคง ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ,นายวัฒนพงษ์ สุกใส ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต, นายโสภณ ทองไสย หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ต, รศ.ดร.พันธ์ ทองชุมนุม รองอธิการบดีวิทยาเขตภูเก็ต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์,นายสมกิตติ์ กิตติโศภิษฐ์ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงภูเก็ต,นายสุริยัน ศรีพิธาธนสกุล ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงชนบทภูเก็ต, นายสรศักดิ์ รณะนันท์ ผอ.ศูนย์ป่าไม้จังหวัดภูเก็ต ร่วมการแถลงข่าวผู้ว่าราชการจังหวัดพบสื่อมวลชน ครั้งที่ 9/2567 ณ ห้องประชุมมุกอันดา มุขหน้า ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต โดยมีประเด็นที่สำคัญในการแถลงข่าวประกอบด้วย สรุปสถานการณ์อุทกภัยและการวางแผนดินโคลนถล่มระยะยาวของจังหวัดภูเก็ต,ประเด็น การศึกษารอยเลื่อนเพื่อป้องกันดินโคลนถล่มของจังหวัดภูเก็ต ,ประเด็น การพัฒนาโครงข่ายทางหลวงแนวใหม่ สายบ้านป่าคลอก- บ้านบางคูจังหวัดภูเก็ตและประเด็น การพัฒนาเส้นทางเพื่อแก้ปัญหาการจราจรจังหวัดภูเก็ต ทั้งนี้การแถลงข่าวได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนเข้าร่วมจำนวนมาก
นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวสรุปภาพรวมสถานการณ์อุทกภัยและดินโคลนถล่มในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต (ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน2567 ถึงวันที่ 28 สิงหาคม 2567) ว่า จังหวัดภูเก็ตได้รับอิทธิพลจากร่องมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งปกคลุมตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม ถึงกลางเดือนตุลาคม เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2567 ถึงวันที่ 28 สิงหาคม 2567 จังหวัดภูเก็ตเกิดสาธารณภัยขึ้น จำนวน 3 ครั้ง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อบ้านเรือน สิ่งสาธารณประโยชน์ พื้นที่ทางการเกษตร ได้แก่ ด้านพืช ด้านประมง ด้านปศุสัตว์ ศาสนสถาน สถานศึกษา และด้านการดำรงชีพที่ส่งผลให้ราษฎรได้รับผลกระทบในหลายพื้นที่ของจังหวัดภูเก็ต รายละเอียดดังนี้ 1.สถานการณ์อุทกภัยดินโคลนถล่ม ในพื้นที่อำเภอกะทู้และอำเภอถลาง เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2567 เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2567 เวลาประมาณ 04.00 น. ได้เกิดฝนตกหนักมีปริมาณน้ำฝนในพื้นที่กว่า 330 มิลลิเมตร ในจังหวัดภูเก็ต ทำให้เกิดเกิดน้ำท่วมขัง หรือน้ำรอระบาย ในพื้นที่อำเภอถลาง ประกอบ ตำบลป่าคลอก ตำบลเทพกระษัตรี ตำบลศรีสุนทร ตำบลเชิงทะเล ตำบลสาคู และอำเภอกะทู้ ในพื้นที่เทศบาลเมืองกะทู้ ประกอบด้วยชุมชนปั๊กกั้วหลาว ชุมชนบ้านภักดี, ชุมชนบ้านเหนือ, ชุมชนน้ำตกกะทู้ ตำบลกะทู้ และตำบลกมลา ส่งผลให้ เวลา 06.00 น. เกิดเหตุการณ์ดินโคลนถล่ม ณ บ้านหัวควน หมู่ที่ 5 ตำบลกมลา อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต ราษฎรที่ได้รับผลกระทบรวม 2 อำเภอ (อำเภอกะทู้และอำเภอถลาง) 7 ตำบล 44 หมู่บ้าน 4 ชุมชน 2,059 ครัวเรือน 6,202 คน /2.สถานการณ์อุทกภัยดินโคลนถล่ม ณ ตำบลกะรน อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 2๓ สิงหาคม 2567 เกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต วัดปริมาณน้ำฝนได้ 200 มิลลิลิตร ทำให้เกิดน้ำท่วมขัง น้ำรอระบาย ในพื้นที่อำเภอเมืองภูเก็ต ประกอบด้วย ตำบลฉลอง ตำบลราไวย์ และตำบลกะรน ส่งผลให้เมื่อเวลา 05.00 น. เกิดเหตุการณ์ดินโคลนถล่มทับบ้านเรือนประชาชน ณ หมู่ที่ 2 ตำบลกะรน อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ราษฎรที่ได้รับผลกระทบ รวม 1 อำเภอ (อำเภอเมืองภูเก็ต) รวม 3 ตำบล 9 หมู่บ้าน ๒60 ครัวเรือน 817 คน มีผู้เสียชีวิต ทั้งหมด ๑๓ ราย และผู้บาดเจ็บ ทั้งหมด ๑๙ ราย บ้านเรือนประชาชนเสียหายบางส่วนและได้รับความเสียหายทั้งหลัง จำนวน 170 หลัง และสิ่งสาธารณประโยชน์ ถนนได้รับความเสียหาย จำนวน ๑ สาย (ถนนสายปากบางหน้าเทศบาล ต.กะรน)สำหรับการให้ความช่วยเหลือเยียวยาตามระเบียบทางราชการ เทศบาลตำบลกะรนอยู่ระหว่างตรวจสอบ ความถูกต้องของข้อมูล และข้อเท็จจริง โดยจะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนของเทศบาลตำบลกะรน ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 ในวันอังคารที่ 3 กันยายน 2567 ณ เทศบาลตำบลกะรน อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต เพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์ในด้านต่าง ๆ ต่อไป 3.สถานการณ์อุทกภัยและดินสไลด์ ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ๒๕๖๗บริเวณหมู่บ้านเทพบุรี บ้านกู้กู หมู่ที่ 3 ตำบลรัษฎา อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ราษฎรที่ได้รับผลกระทบ รวม 1 อำเภอ (อำเภอเมืองภูเก็ต) ๑ ตำบล ๑ หมู่บ้าน 1๑ ครัวเรือน ๕๐ คนจังหวัดภูเก็ตได้ประกาศ เขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย/เขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (กรณีอุทกภัยและดินโคลนถล่ม) ในพื้นที่อำเภอเมืองภูเก็ต หมู่ที่ 3 ตำบลรัษฎา สำหรับการให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น เทศบาลตำบลรัษฎา จัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวณ โรงแรมพิมพ์ประไพเพลส และจัดที่พักชั่วคราวให้แก่ครอบครัวผู้ประสบภัยระหว่างรอการซ่อมแซมบ้าน ณ โรงเรียนเทศบาลตำบลรัษฎาพื้นที่นาหลวง หมู่ที่ 3 ในวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๖๗ มีผู้อพยพแจ้งความประสงค์ เข้าที่พักชั่วคราว จำนวน ๕ ครัวเรือน ๒๐ คน ที่เหลืออีก ๓๐ คน พักอาศัยบ้านญาติ โดยทางเทศบาลตำบลรัษฎา ได้จัดเตรียมอาหาร และน้ำดื่ม ให้แก่ผู้ประสบภัยตามระเบียบของราชการ
นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวเพิ่มเติมว่า จังหวัดภูเก็ตได้กำหนดแนวทางการแก้ไขและป้องกัน โดยให้บูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดินโคลนถล่ม เพื่อให้เกิดความมั่นคงปลอดภัยของประชาชน ดำเนินจัดทำแผนแม่บทในการบริหารจัดการพื้นที่เสี่ยงภัย เร่งนำข้อมูลแผนที่เสี่ยงภัยดินโคลนถล่มระดับชุมชน ไปทำความเข้าใจแก่ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง และประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการเตรียมความพร้อมในการรับมือทั้งก่อน ระหว่าง และหลังเกิดธรณีพิบัติภัย เร่งการออกแบบทั้งระบบในการป้องกัน เฝ้าระวัง และเตือนภัย โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงของจังหวัดภูเก็ตให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมที่ทันสมัย ภาพถ่ายทางอากาศ และภาพถ่ายดาวเทียม และข้อมูลอื่น ๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสัมพันธ์กับการใช้ประโยชน์ที่ดินโดยเฉพาะการก่อสร้างสาธารณูปโภค และการก่อสร้างอาคาร ทำการสำรวจและตั้งสถานีวัดการเคลื่อนตัวของมวลดิน พร้อมอุปกรณ์ เครื่องมือในการเฝ้าระวังเพื่อแจ้งเตือนภัยแผ่นดินถล่ม และน้ำป่าไหลหลากให้ครอบคลุมในพื้นที่เสี่ยงภัยจังหวัดภูเก็ตซึ่งจะมีประสิทธิภาพแจ้งเตือนภัยได้ก่อนเกิดเหตุ 1 ชั่วโมง และให้กรมทรัพยากรธรณี ดำเนินการร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนสถานการณ์ภัยพิบัติจากปัญหาน้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม ผ่านระบบเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่สะดวก และรวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์ เพื่อลดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่เสี่ยง
และจังหวัดภูเก็ตวางแผนการปลูกพืชคลุมดิน โดยต้นไม้ที่จะวางแผนการปลูกประกอบด้วยต้นไทร กระถินยักษ์ ซึ่งเป็นต้นไม้ที่สามารถเติบโตได้เร็วและขยายพันธุ์ได้เร็ว ขณะนี้จังหวัดภูเก็ตได้ประสานกรมป่าไม้เพื่อหาเมล็ดพันธุ์ซึ่งเมื่อได้เมล็ดพันธุ์แล้วจะนำขึ้นเฮลิคอปเตอร์เพื่อโปรยลงมาปลูกในพื้นที่เป้าหมาย นอกจากนี้จังหวัดยังได้ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนจัดทำฝายชะลอน้ำ โดยให้วิศวกรทำการออกแบบเพื่อให้เป็นฝายที่มีประสิทธิภาพในการที่จะชะลอน้ำในช่วงฤดูฝนด้วย