กรมวิทย์ฯ ร่วมกับ รพ.นำร่องของภาคใต้ จัดทำแนวทางการตรวจทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์

กรมวิทย์ฯ ร่วมกับ รพ.นำร่องของภาคใต้ จัดทำแนวทางการตรวจทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์อย่างสมเหตุผล เพื่อให้เกิดความเหมาะสม เป็นประโยชน์ และลดความเสี่ยงที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย

ที่ ห้องประชุมพาโก้ สกาย ฮอลล์ ชั้น 3 โรงแรมเดอะพาโก้ ดีไซน์ จังหวัดภูเก็ต นายแพทย์ปิยะ ศิริลักษณ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นประธานเปิดการสัมมนา “โครงการจัดทำแนวทาง การตรวจทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์อย่างสมเหตุผล (Rational Laboratory Use, RLU) ครั้งที่ 1 ของภาคใต้” โดยมี ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล แพทย์ นักเทคนิคการแพทย์ เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการจากโรงพยาบาลนำร่องของภาคใต้ ได้แก่ โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต โรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ โรงพยาบาลสงขลา โรงพยาบาลหาดใหญ่ เข้าร่วม

นายแพทย์ปิยะ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ ร่วมกับ ราชวิทยาลัย กุมารแพทย์ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ สภากาชาดไทย คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราช คณะแพทย์ศาสตร์รามาธิบดี และตัวแทนโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขในทุกภาคของประเทศ สร้างต้นแบบระบบการบริหารจัดการและ แนวทางการสั่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ใช้ประกอบการตัดสินใจในการคัดกรอง วางแผนดูแลสุขภาพ วินิจฉัย รักษา และติดตามผลการรักษา โดยมุ่งหวังให้การสั่งตรวจทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์มีความเหมาะสม คุ้มค่า และเป็นประโยชน์มากที่สุด หรือที่เรียกว่าการตรวจทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์อย่างสมเหตุผล (Rational Laboratory Use, RLU) ซึ่งนอกจากจะเกิดประโยชน์ในระดับสุขภาพของบุคคลแล้ว ยังส่งผลให้ระบบสุขภาพในภาพรวมสามารถใช้ทรัพยากรทางสุขภาพให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนหมู่มากได้อย่างเพียงพอ อันจะทำให้ระบบสุขภาพ มีความมั่นคงและยั่งยืน

นายแพทย์ปิยะ กล่าวต่อว่า สำหรับการสัมมนาครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้รับฟังและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในการนำแนวคิด RLU ไปสู่การประยุกต์ใช้จริงในโรงพยาบาล รวมทั้งรับข้อเสนอแนะทั้งด้านการบริหารจัดการ และด้านวิชาการ ต่อร่างแนวทางที่ได้เคยยกร่างเอาไว้เบื้องต้น เพื่อเติมเต็ม และร่วมกันทำให้แนวทางการตรวจ ทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์อย่างสมเหตุผล (RLU) มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และในการสัมมนาครั้งนี้ยังมีกิจกรรม เยี่ยมชมการดำเนินงานจริงของโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลนำร่องที่ได้มีการประยุกต์ RLU สู่การปฏิบัติอย่างได้ผลในระดับหนึ่งอีกด้วย ทั้งนี้ด้วยความมุ่งหวังว่ากิจกรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ จะทำให้ RLU สามารถเกิดขึ้นได้จริงในโรงพยาบาลต่างๆ และสร้างประโยชน์ต่อระบบสุขภาพได้เป็นอย่างดี

“RLU หรือการสั่ง Lab อย่างสมเหตุสมผล ไม่ใช่การลดการสั่งตรวจ Lab เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย แต่เป็นการกำหนดแนวทางการสั่งตรวจ Lab ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ที่มากที่สุดต่อการดูแลสุขภาพประชาชน (สั่งตรวจ Lab ที่ไม่มากไป และไม่น้อยไป) จุดเน้นคือการสั่งตรวจ Lab เมื่อจำเป็นตามหลักวิชาการ ลดการสั่งตรวจ Lab ที่ไม่เป็นประโยชน์ อาทิเช่น การสั่งตรวจ Lab บ่อยครั้งเกินจำเป็น สั่งตรวจ Lab ซ้ำ เพราะไม่ได้ส่งข้อมูลระหว่างกัน (ระหว่างแผนกในโรงพยาบาล และระหว่างโรงพยาบาล) การสั่งตรวจ Lab เป็นชุดทีละหลายรายการทั้งที่ บางรายการเท่านั้นที่เป็นประโยชน์ การสั่งตรวจ Lab แล้วไม่ได้ดูผล Lab อาจเพราะผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลก่อนผล Lab ออก การสั่งตรวจ Lab โดยไม่มีจุดประสงค์ที่แน่นอน เพราะไม่ได้ พิจารณาความจำเป็นตามหลักวิชาการ หรือไม่ได้พิจารณาจากข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้องก่อน ทั้งนี้ถ้าสามารถลดการสั่งตรวจ Lab ที่ไม่เป็นประโยชน์ จะทำให้ค่าใช้จ่ายด้าน Lab โดยรวมลดลง และลดอันตรายต่อผู้ป่วย” นายแพทย์ปิยะ กล่าว

Subscribe