จะเดินหน้าต่อหรือหยุด! ผลักดันภูเก็ตเป็นศูนย์กลางการค้าปลาทูน่า และผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าอาเซียน

จะเดินหน้าต่อหรือหยุด! ผลักดันภูเก็ตเป็นศูนย์กลางการค้าปลาทูน่า และผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าอาเซียน ฟื้นเศรษฐกิจ หลังวิกฤตโควิดกระทบท่องเที่ยวหนัก พบติดปัญหาเพียบ โดยเฉพาะข้อกฎหมาย ขณะที่เอกชนมั่นใจตลาดปลาทูน่ายังไปได้สวย

ตามที่ภาคเอกชนในจังหวัดภูเก็ต พยายามผลักดันให้อุตสาหกรรมทูน่ากลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง เหมือนช่วงปี 2555-2557 ซึ่งขณะนั้นจังหวัดภูเก็ตคือศูนย์กลางการส่งออกทูน่า ใหญ่ เป็นเป็นที่รู้จักของโลก มีมูลค่าการส่งออกทูน่าปีละ 3,000-4,000 ล้านบาท นอกจากนั้น ยังมีโรงงานแปรรูปปลาทูน่าเกิดขึ้นในพื้นที่มากถึง 7 แห่ง แต่หลังจากที่ธุรกิจประมงในจังหวัดภูเก็ต ต้องเผชิญกับกฎระเบียบการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) ของสหภาพยุโรป ส่งผลให้กองเรือทูน่าของจีนและไต้หวันประมาณ 100-200 ลำต่อปีที่เคยเข้ามาจอดเทียบท่าในจังหวัดภูเก็ต “ต้องหายไป” เพราะเรือประมงเหล่านั้นทำผิดกฎ IUU

ทำให้โรงงานแปรรูป 7 แห่งในภูเก็ตไม่มีวัตถุดิบ และปัจจุบันเหลือเปิดดำเนินการอยู่แค่ 2 แห่งเท่านั้น เพราะต้องสั่งวัตถุดิบนำเข้าเข้ามาแปรรูปด้วยต้นทุนที่สูง ทำให้รายได้หายไปเกือบทั้งหมด จึงถึงเวลาที่จะผลักดันภูเก็ตเป็นศูนย์กลางการค้าปลาทูน่า และผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าอาเซียน ฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมาดีเหมือนเดิมเพราะเชื่อว่าการส่งออกทูน่ายังมีแนวโน้มที่ดี โดยที่ผ่านมา ทางภาคเอกชนได้เสนอเรื่องนี้ไปยังจังหวัด กรมประมง รวมทั้งรัฐบาลเพื่อผลักดันและแก้ไขข้อกฎหมายต่างๆ

ล่าสุด วันนี้ (3 มี.ค.) ที่ห้องประชุมสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดภูเก็ต นายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานในการประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนให้ภูเก็ตเป็นศูนย์กลางการค้าปลาทูน่าและผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าอาเซียน ประเด็นยุทธศาสตร์การพัฒนาสู่เมืองเศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยวัฒนธรรมและบริการมูลค่าสูงระดับนานาชาติ โดยมีภาคเอกชน และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ซึ่งในการประชุมพบว่าการจะเดินไปสู่เป้าหมายที่ทางจังหวัดและภาคเอกชนวางไว้ยังติดปัญหาเรื่องของข้อกฎหมายโดยเฉพาะกฎหมายประมง ซึ่งไม่สามารถที่จะแก้ไขในระดับพื้นที่ได้

นายพิเชษฐ์ กล่าวว่า ศูนย์กลางการค้าปลาทูน่าและผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าอาเซียน ประเด็นยุทธศาสตร์การพัฒนาสู่เมืองเศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยวัฒนธรรมและบริการมูลค่าสูงระดับนานาชาติ ถือเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญของจังหวัดภูเก็ต ครั้งนี้เป็นการประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้า ถ้าหากมีความเป็นไปได้ทางจังหวัดและภาคเอกชนพร้อมที่จะเดินหน้าต่อ รวมทั้งผลักดันในเรื่องของการเสนอของบประมาณเพื่อขับเคลื่อน แต่ถ้าปัญหามีมาก คนที่จะลงทุนไม่มีก็ไม่สามารถที่จะเดินหน้าได้ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของการแก้กฎหมาย ซึ่งเกินขีดความสามารถของทางจังหวัด

ส่วนเรื่องของผู้ประกอบการถ้าไม่มีใครลงทุนจริงๆ ไม่สามารถดำเนินการได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นการที่จะทำให้ภูเก็ตเป็นฮับทูน่า เหมือนอดีตที่ผ่านมาไม่น่าจะเป็นไปได้ เนื่องจากที่ผ่านมา เรือทูน่าที่เข้ามาเป็นเรือจากต่างประเทศทั้งหมด แต่ขณะนี้เรือเหล่านี้ไม่สามารถเข้ามาได้เพราะติดปัญหาเรื่องข้อกฎหมายในหลายข้อ ทั้งในเรื่องของเรือต่างชาติ เรื่องขนาดเรือ ไต๋เรือ ลูกเรือ การจำกัดจำนวนเรือประมง และอื่นๆ อีกมาก ซึ่งเป็นข้อจำกัดที่เดินได้ยากถ้าไม่มีการแก้กฎหมาย

และอีกปัญหาที่เป็นปัญหาใหญ่ คือ เรื่องของผู้ประกอบการที่จะเข้ามาดำเนินการเรื่องนี้ จะมีผู้ประกอบการสนใจเข้ามาทำหรือไม่ เพราะจะต้องเปลี่ยนวิธีการจับปลา จะต้องปรับปรุงเรือ จากการจับปลาเป็นฝูงมาจับปลาทีละตัวโดยใช้เบ็ดราว และที่สำคัญต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการปรับปรุงเรือเพื่อให้สามารถจับปลาทูน่าได้ ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่ชัดเจน การประชุมวันนี้จึงเป็นการประชุมเพื่อตรวจสอบความชัดเจนทั้งเรื่องของการแก้กฎหมาย และเรื่องของผู้ประกอบการ หากมีความชัดเจนก็พร้อมที่จะสนับสนุน และผลักดันกันต่อไป ส่วนเรื่องของตลาดและสถานที่ขึ้นปลาไม่น่าจะมีปัญหาซึ่งมีสถานที่รองรับอยู่แล้ว ถ้าไม่มีปัญหาอยากจะให้มีการนำร่องเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ก่อน

ขณะที่ผู้แทนจากภาคเอกชนซึ่งเคยประกอบธุรกิจเรือทูน่า ในจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ถ้ามองถึงแนวโน้มความต้องการของตลาดปลาทูน่า พบว่า ยังมีความต้องการสูงทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้ตลาดปลาทูน่ามีมูลค่าสูงมาก มีรายได้ปีละประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท แต่ปัจจุบันพบว่ารายได้ลดลง เพราะเรือต่างประเทศไม่สามารถมาขึ้นปลาที่จังหวัดภูเก็ตได้ และเรือคนไทยไม่สามารถออกไปจับปลาได้เนื่องจากไม่มีเรือ จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการทำประมงทูน่า

ทั้งนี้ ตามกฎหมายเรือจับปลาทูน่าใหม่ที่จะเข้าจอดเทียบท่าเรือภูเก็ตได้จะต้องเป็นเรือสัญชาติไทย ชักธงไทย ถือหุ้นโดยคนไทย 70% ต่างชาติ 30% และแบ่งปันผลกำไรกันตามสัดส่วนหุ้น อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาประเทศไทยเคยมีจัดตั้งกองเรือทูน่า โดยในช่วงปี 2541-2543 สหกรณ์ประมงทูน่าน้ำลึกไทย ได้ตั้งกองเรือทูน่าขึ้นมา นำร่องใช้เรืออวนล้อม “มุกมณี” จับปลาทูน่าในมหาสมุทรอินเดีย มีการออกเรือประมาณ 11 ครั้ง ผลประกอบการขาดทุนจนมีหนี้สินสะสมถึง 40 ล้านบาท

Subscribe