ชี้ชัดแล้ว “ฉลาม” กัดเด็กชายลูกครึ่งที่ลงเล่นน้ำหาดกมลา

นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญ ชี้ชัดแล้ว “ฉลาม” โจมตีเด็กชายลูกครึ่งไทย-ยูเครน ที่ลงเล่นน้ำหาดกมลา จ.ภูเก็ต จากรอยบาดแผลที่มีทั้งรอยฟันบนและฟันล่าง ถูกงับด้วยของมีคม และจุดเกิดเป็นเซิร์ฟโซนที่ฉลามหากินอยู่ประจำ ส่วนจะเป็นชนิดไหน ผู้เชี่ยชาญให้น้ำหนักไปที่ฉลามหัวบาตร หรือ Blue Shark เตรียมปักป้ายเตือนและบินสำรวจ

จากกรณีที่เด็กชายลูกครึ่งไทย-ยูเครน ลงไปเล่นน้ำที่บริเวณชายหาดกมลา อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต แล้วถูกสัตว์ทะเลกัดที่ขาเป็นแผลเหวอะ เย็บถึง 33 เข็ม เหตุเกิดเมื่อวันที่ 1 พ.ค.65 ที่ผ่านมา ในเบื้องต้นผู้เชี่ยวชาญชาญฉลาม กลุ่มอนุรักษ์ Oceon For All สัณนิฐานว่าแผลเกิดจากฉลามกัด ตามที่ได้นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น

ความคืบหน้า นายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วย นายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เจ้าหน้าที่ประมงจังหวัดภูเก็ต ตำรวจท่องเที่ยว ศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต นายเดวิด มาร์ติน ช่างภาพใต้น้ำ และผู้เชี่ยวชาญฉลาม กลุ่มอนุรักษ์ Oceon For All ชาวฝรั่งเศส ได้เดินมายังร้านยำจัดจ้าน เพื่อเยี่ยมให้กำลังใจและพูดคุยกับ ด.ช.ณภัทร ไชยารักษ์ คริสเตนโก หรือ อเล็กซ์ อายุ 8 ขวบ เด็กชายลูกครึ่งไทย-ยูเครน ที่ประสบเหตุถูกสัตว์ทะเลกัดระหว่างที่ลงเล่นน้ำบริเวณหาดกมลา รวมถึงพ่อและแม่ของเด็กชายคนดังกล่าวด้วย

โดยนายพิเชษฐ์ ได้สอบถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทาง ด.ช.ณภัทรไชยารักษ์ คริสเตนโก หรือ อเล็กซ์ ได้เล่าให้ฟังว่า เมื่อวานนี้ (1 พ.ค.) พ่อซึ่งเป็นชาวยูเครนได้พาตนไปเล่นน้ำที่หาดกมลา บริเวณเยื้องๆกับ สภ.กมลา โดยตนได้ลงไปเล่นเพียงคน พ่อและคนอื่นๆ อยู่บนหาด ลงไปในจุดที่มีน้ำลึกประมาณ 1 เมตร ขณะที่ตนกำลังว่ายน้ำอยู่นั้นได้สังเกตเห็นว่ามีอะไรเป็นตัวสีดำๆ ยาวๆ อยู่ด้านล่าง หลังจากนั้นปลาตัวดังกล่าวได้พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วและกัดที่ขาของตนทันที 1 ครั้ง ตนจึงได้ต่อสู้ด้วยการชกไปที่ตัวปลา และรีบว่ายน้ำกลับขึ้นมาที่ชายฝั่งและบอกให้พ่อรู้ว่าถูกปลาอะไรกัดมาก็ไม่รู้ จึงได้นำไปทำแผลที่โรงพยาบาล ปรากฏว่าต้องเย็บ 33 เข็ม ซึ่งตอนนั้นตอนไม่ได้กลัวและไม่ร้องไห้ และคิดว่าปลาที่กัดเป็นปลาสาก ไม่ใช่ปลาฉลาม และไม่กลัวที่จะลงไปเล่นน้ำทะเลหลังจากนี้

นายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จากข้อมูลทราบว่าน้องอเล็กซ์ได้ไปเล่นน้ำที่หาดกมลาและถูกสัตว์ทะเลกัดได้รับบาดเจ็บเย็บ 33 เข็ม วันนี้ตนพร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มาเยี่ยมและสอบถามข้อมูลเพื่อที่จะให้การช่วยเหลือ เนื่องจากมีกองทุนในการช่วยเหลือและเยียวยานักท่องเที่ยว แต่จากที่ได้สอบถามข้อมูล ทราบว่าน้องอเล็กซ์เป็นลูกครึ่งไทย-ยูเครน สัญชาติไทย จึงไม่สามารถให้การช่วยเหลือในส่วนนี้ได้ แต่สามารถใช้สิทธิ์ในการรักษาตามสิทธิ์ที่มีได้ และในส่วนของการป้องกันไม่ให้เกิดในลักษณะนี้ซ้ำขึ้นอีกนั้น จากการพูดคุยกับทาง ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จะต้องมีการเฝ้าระวังนักท่องเที่ยวที่จะลงเล่นน้ำในจุดเสี่ยงที่เป็นเชิร์ฟโซน ที่มีน้ำขุ่น เพราะปลาฉลามจะมาหากินในโซนนั้น ให้บีชการ์ดค่อยสอดส่องดูแล และได้แนะนำให้มีการปักป้ายเตือนนักท่องเที่ยวที่จะลงเล่นน้ำในบริเวณเซิร์ฟโซน และจะมีการบินโดรนสำรวจปริมาณของปลาฉลามที่เข้ามาหากินในบริเวณดังกล่าวด้วย

ด้าน นายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวชนิดของสัตว์ทะเลที่กัดเด็กชายคนดังกล่าวจนได้รับบาดเจ็บ ว่า จากการที่ได้ร่วมกันวินิจฉัยกับผู้เชี่ยวชาญฉลาม กลุ่มอนุรักษ์ Oceon For All และจากบาดแผล ได้ตัดข้อสงสัยว่าจะเป็นปลาสากออกไป เนื่องจากจุดที่เกิดเหตุไม่ใช่แหล่งหากินของปลาสาก และลักษณะบาดแผลที่เกิดขึ้นบ่งบอกว่าเป็นการโจมตีของฉลามที่มีทั้งรอยฟันบนและรอยฟันล่างบนบาดแผล ถูกงับด้วยของมีคม ซึ่งตรงกับบาดแผลของฉลาม และจุดที่เกิดเป็นบริเวณเซิร์ฟโซนที่ปกติแล้วฉลามจะมาหากินในบริเวณนี้อยู่แล้ว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพราะว่าฉลามเห็นการเคลื่อนจึงคิดว่าเป็นเหยื่อจึงได้ทดสอบว่าใช่หรือไม่ แต่เมื่อไม่ใช่ก็ไม่ได้โจมตีซ้ำ ซึ่งเหตุการณ์ในลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ ส่วนจะเป็นฉลามชนิดไหนนั้น ได้ตั้งข้อสงสัยไว้ 2 ชนิด คือ ฉลามครีบดำ กับ ฉลามหัวบาตร หรือ Blue Shark ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าฉลามครีบดำจะหากินอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุ แต่โอกาสและความเป็นไปได้ที่ฉลามครีบดำจะโจมตีคนนั้นน้อยมาก จึงสันนิฐานว่าน่าจะเป็นลูกของฉลามหัวบาตร

ขณะที่ นายเดวิด มาร์ติน ผู้เชี่ยวชาญฉลาม กลุ่มอนุรักษ์ Oceon For All ยืนยันว่าบาดแผลที่เกิดขึ้นเป็นบาดแผลที่เกิดจากการโจมตีของฉลาม ส่วนชนิดของฉลามนั้นสงสัยอยู่ 2 ชนิด คือ ครีบดำ กับ หัวบาตร แต่ให้น้ำหนักไปทางหัวบาตรมากกว่า จากลักษณะของรอยบาดแผลและการโจมตีเพราะฉลามครีบดำนั้นการโจมตีจะเกิดขึ้นได้ยากมาก แต่จะพบเห็นการโจมตีโดยฉลามหัวบาตรได้บ่อยครั้งกว่า และจากขนาดของบาดแผลน่าจะเป็นฉลามที่มีความยาวประมาณ 1 เมตร ซึ่งน่าจะเป็นลูกฉลาม

Subscribe