ตรวจเยี่ยมโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 36 จังหวัดภูเก็ต

องคมนตรีประธานกรรมการบริหารมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ตรวจเยี่ยมโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 36 จังหวัดภูเก็ต

ที่ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 36 จังหวัดภูเก็ต พลเรือเอกพงษ์เทพ หนูเทพ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์พร้อมคณะได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมคณะครู บุคลากรทางการศึกษาและนักเรียนโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 36 จังหวัดภูเก็ต โดยมีนายอำนวย พิณสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นางสาวนิภา แก้วประคอง ผู้อำนวยการโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 36 จังหวัดภูเก็ต ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง คณะครูและนักเรียนโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 36 จังหวัดภูเก็ต ให้การต้อนรับ

 

นางสาววนิดา แก้วประคอง ผู้อำนวยการโรงเรียนราชประซานุเคราะห์ 36 จังหวัดภูเก็ตได้กล่าวรายงานผลการดำเนินงาน ด้านการจัดกาศึกษา และปัญหาอุปสรรคของโรงเรียนราชประชานุเคราะห์จังหวัดภูเก็ตว่าโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 36 จังหวัดภูเก็ต ตำบลกมลา อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีจำนวนห้องเรียนทั้งหมด 33 ห้องเรียน มีรูปแบบการจัดการเรียนการสอน 2 ลักษณะ คือ ลักษณะอยู่ประจำในโรงเรียน และลักษณะไป – กลับ มีเนื้อที่ 2 แปลง สำหรับตั้งอาคารเรียน และบ้านพักครูเจ้าหน้าที่ของโรงเรียน ประกอบไปด้วยอาคารเรียน จำนวน 4 หลัง หอพักสำหรับนักเรียนประจำ จำนวน 3 หลัง (6 หอพัก) หอประชุม/โรงอาหาร จำนวน 1 หลัง และสนามกีฬา(อาคารโดม) จำนวน 2 หลัง
ปัจจุบันมีจำนวนบุคลากรทั้งสิ้น 84 คน แบ่งเป็น ข้าราชการครู 43 คน พนักงานราชการ จำนวน 17 คนครูอัตราจ้าง จำนวน 4 คน เจ้าหน้าที่ธุรการ จำนวน 1 คน พี่เลี้ยงเด็กพิการ จำนวน 8 คน และเจ้าหน้าที่จ้างเหมาบริการ จำนวน 11 คน ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 มากกว่า 3 เข็มแล้ว 100% มีจำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 774 คน แบ่งเป็นนักเรียนประจำ จำนวน 253 คน คิดเป็น 32.69% นักเรียน ไป – กลับ จำนวน 521 คน คิดเป็น 67.31% มีนักเรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษทั้งสิ้น 59 คน แบ่งประเภทบกพร่องทางสติปัญญา 2 คน บุคคลออทิสติก 2 คน และบกพร่องทางการเรียนรู้ 55 คน จัดการเรียนการสอนให้นักเรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษได้มีการเรียนรวมกับนักเรียนปกติ โดยที่คุณครูผู้สอนมีการจัดทำแผนการสอนเฉพาะบุคคล (IEP) ได้รับการสนับสนุนสื่อสำหรับนักเรียน การดูแล ติดตาม นิเทศ จากศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดภูเก็ต มีการจัดห้องเรียนสำหรับนักเรียนเรียนรวม มีตารางการสอนเสริม ได้รับการสนับสนุนทุนการศึกษา จากหน่วยงานภายนอก อาทิเช่น ทุนคุณพุ่ม, ทุนน่านฟ้าไทย, ทุนพระราชทาน, ทุนมูลนิธิหยดน้ำ, ทุนสภากาซาดไทย, และทุนจากองค์กรเอกชนในจังหวัดภูเก็ต การเปิดภาคเรียนในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid 19) ได้มีการประชุมคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน คณะครู และบุคลากรของโรงเรียน ดำเนินการประเมินตนเองผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานตามแบบประเมินความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนอยู่ในระดับ สีเขียว หมายถึงสามารถเปิดเรียนได้ มีการปรับแผนและกิจกรรมให้สอดคล้องกับสภาวะปัจจุบัน จัดหาวัสดุอุปกรณ์ เจลล้างมือแอลกอฮอล์ เครื่องวัดอุณหภูมิ รวมถึงหน้ากากอนามัยสำหรับนักเรียน อาหารกลางวัน อาหารเสริม (นม) อาหารว่าง อีกทั้งทำอ่างล้างมือสำหรับนักเรียนเพิ่มเติมสำหรับนักเรียนและบุคลากรทุกคน ปัจจุบันใช้รูปแบบการจัดการเรียนการแบบนั่งเรียนในห้อง (On-site) เต็มรูปแบบ แต่ยังคงรักษามาตรการเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย และปฏิบัติตนตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

โรงเรียนมีนโยบายจัดการเรียนการสอน โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ พัฒนาทักษะอาชีพให้ผู้เรียนได้รับประโยชน์สูงสุด เน้นให้ผู้เรียนได้ปฏิบัติจริง โดยมีสถานฝึกประสบการณ์อาชีพจริงในโรงเรียน เช่น ธุรกิจงานโรงแรม ธุรกิจร้านเสริมสวยและนวดแผนไทย การเกษตรเพื่อการศึกษา รวมทั้งการผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายของนักเรียน เช่น ผ้าบาติก ผ้ามัดย้อม การร้อยเครื่องประดับจากไข่มุก น้ำพริกกุ้งเสียบ ดอกไม้ประดิษฐ์ ผลิตภัณฑ์เดคูพาจ และเบเกอรี่ เป็นต้น

ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และมัธยมศึกษาปีที่ 3 ลดลง แต่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.61 ในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 เนื่องมาจากรูปแบบการเรียนออนไลน์อาจไม่เหมาะสมสำหรับนักเรียนในระดับประถมและมัธยมต้น ข้อมูลนักเรียนจบการศึกษาในปีการศึกษา 2564 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 55 คน ศึกษาต่อ 55 คน คิดเป็นร้อยละ 100 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่
3 จำนวน 73 คน ศึกษาต่อ 72 คน คิดเป็นร้อยละ 98.63 ประกอบอาชีพ 1 คน คิดเป็นร้อยละ 1.37 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 29 คน ศึกษาต่อ 24 คน คิดเป็นร้อยละ 82.76 ประกอบอาชีพ 5 คน คิดเป็นร้อยละ 17.24

โรงเรียนได้ดำเนินการแก้ปัญหาตามข้อเสนอแนะของประธานกรรมการบริหารมูลนิธิฯ ในการตรวจเยี่ยมโรงเรียนครั้งที่ผ่านมา คือการแก้ปัญหาเรื่องน้ำสำหรับอุปโภค โดยมีการติดตั้งโรงกรองน้ำ ตอนนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการติดตั้งเครื่องกรองน้ำ ซึ่งกำหนดแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2565 นี้ ติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่การศึกษา ซึ่งได้รับจากมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ จำนวน 40 เครื่อง ทำโครงการห้องสมุดเฉลิมพระเกียรติ(ห้องทำการบ้านสำหรับนักเรียนประจำ บริเวณใต้หอพัก จัดหาหนังสือสำหรับนักเรียน สามารถศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์
ปัญหาและอุปสรรค โรงเรียนขาดแคลนเครื่องดนตรีและเครื่องดนตรีวงโยธวาทิต สำหรับการจัดการเรียนการสอนให้กับนักเรียน สืบเนื่องจากเครื่องดนตรีที่มีอยู่ผ่านการใช้งานมานาน บวกกับเครื่องดนตรีวงโยธวาทิตส่วนใหญ่ทำจากโลหะ โรงเรียนตั้งอยู่ใกล้กับทะเลทำให้อุปกรณ์ดังกล่าวเสื่อมสภาพได้ง่าย และมีอายุการใช้งานสั้นกว่าปกติ ส่วนเครื่องดนตรีไทยที่มีอยู่ก็เสื่อมสภาพไม่สามารถใช้สอนนักเรียนได้ จะนำไปซ่อมแซมก็ไม่คุ้มทุน หากโรงเรียนได้รับเครื่องดนตรีไทยวงพาทย์เครื่องคู่ และเครื่องดนตรีวงโยธวาทิต การจัดการเรียนการสอนก็จะบรรลุตัวชี้วัดได้ง่ายขึ้น และยังจะเป็นการส่งเสริมความสามารถด้านดนตรีให้กับนักเรียน การใช้เวลาว่างในการเล่นดนตรี สร้างสุนทรียภาพให้กับตัวเอง ห่างไกลจากอบายมุข ยาเสพติด รวมถึงสิ่งยั่วยุที่มาในรูปของสื่อออนไลน์

ทั้งนี้ พลเรือเอกพงษ์เทพ หนูเทพ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ได้ดำเนินการตรวจเยี่ยม ซักถามผลการดำเนินงานของโรงเรียนด้วย

Subscribe