นพ.สสจ.ภูเก็ตเผยผู้ป่วยฝีดาษวานรทั้ง 2 ราย ได้เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลแล้ว

นพ.สสจ.ภูเก็ต เผยผู้ป่วยฝีดาษวานรทั้ง 2 ราย ได้เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจากการสอบสวนโรคมีผู้สัมผัสจำนวน 11 ราย ประกอบด้วยผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 8 ราย และสัมผัสเสี่ยงต่ำ 3 ราย โดยอยู่ระหว่างการสังเกตอาการ

สืบเนื่องจากสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 นครศรีธรรมราช ได้รายงานการตรวจพบผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรจำนวน 2 ราย ซึ่งเป็นผู้ป่วยยืนยัน รายที่ 9 และรายที่ 10 ในจังหวัดภูเก็ต ประวัติพบว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน โดยผู้ป่วยยืนยันรายที่ 9 เป็นเพศหญิง สัญชาติไทย อายุ 37 ปี อาชีพ พนักงานบริการ เริ่มป่วยตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2565 มีไข้ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตัว วันที่ 17 กันยายน 2565 โดยผู้ป่วยซื้อยารับประทานเอง ต่อมาเริ่มมีผื่นที่บริเวณก้น มีผื่นตุ่มหลายประเภท ทั้งตุ่มน้ำใส ตุ่มนูนแดง ตุ่มหนอง ทั่วร่างกาย ไม่คัน แต่เจ็บบริเวณที่เป็นตุ่ม จนถึงวันที่ 25 กันยายน 2565 และได้ให้ประวัติว่า ในขณะที่เริ่มป่วยได้สัมผัสใกล้ชิดกับชายชาวเยอรมัน อายุ 54 ปี ซึ่งต่อมาเริ่มมีอาการผื่นและตุ่มหนองที่บริเวณหน้าอก ในวันที่ 27 กันยายน

สำหรับผู้ป่วยยืนยันรายที่ 9 ไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดภูเก็ต และแพทย์ซักประวัติผู้ป่วยได้ข้อมูลว่าไม่ได้สัมผัสผู้ป่วยที่มีผื่นหรือตุ่มที่ผิวหนัง และไม่ได้เดินทางไปต่างประเทศ ในช่วง 21 วัน ก่อนป่วย แต่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดชาวต่างชาติ แพทย์วินิจฉัยว่า สงสัยเป็นโรคฝีดาษวานร จึงส่งตัวอย่างตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจหาเชื้อ วันที่ 26 กันยายน 2565 ผลตรวจ PCR พบเชื้อ Monkeypox virus กรมควบคุมโรคส่งทีมปฏิบัติการสอบสวนโรคจากกองระบาดวิทยา และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 นครศรีธรรมราช ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต และโรงพยาบาลในพื้นที่ดำเนินการสอบสวนโรคตั้งแต่วันที่ 27 – 30 กันยายน 2565 ค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูง จนพบชาวเยอรมนี เป็นผู้ป่วยยืนยันรายที่ 10 จากผลการตรวจ PCR ข้อมูลการสอบสวนพบว่าติดเชื้อผ่านการสัมผัสใกล้ชิด

สอบถามนายแพทย์กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต (สสจ.ภูเก็ต) กรณีพบผู้ป่วย 2 รายดังกล่าว ซึ่งเปิดเผยว่า ขณะนี้ในส่วนของผู้ป่วยฝีดาษวานรทั้ง 2 ราย ได้เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจากการสอบสวนโรคมีผู้สัมผัสจำนวน 11 ราย ประกอบด้วยผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 8 ราย และสัมผัสเสี่ยงต่ำ 3 ราย โดยอยู่ระหว่างการสังเกตอาการ หากพบว่ามีไข้หรือมีความผิดปกติก็ให้กักตัวและพบแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อทันที ทั้งนี้ในภาพรวมนั้นไม่ต้องกังวล เนื่องจากโรคดังกล่าวไม่ได้ติดต่อกันง่ายเหมือนกับโควิด-19 เพราะจะต้องเป็นผู้ที่สัมผัสแนบชิดจริงๆ แต่ขอให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับคนที่ไม่รู้จัก หรือผู้ที่มีไข้ ผื่น ตุ่มน้ำ ตุ่มหนองบริเวณร่างกาย หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่งจากร่างกายผู้อื่น ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกัน สวมหน้ากากอนามัยขณะอยู่ใกล้ชิดผู้อื่น ล้างมือบ่อยๆ รับประทานอาหารปรุงสุกสะอาดและไม่สัมผัสสัตว์ป่วย โดยในส่วนของจังหวัดภูเก็ตได้มีการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

Subscribe