นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตชี้แจงความคืบหน้าการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดกรณีพบผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรรายแรกของไทย

นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตชี้แจงความคืบหน้าการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดกรณีพบผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรรายแรกของไทย จากการค้นหาผู้สัมผัสใกล้ชิดเพิ่มเติมจำนวน 6 แห่ง พบผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจำนวน 19 ราย โดยได้ดำเนินการเก็บตัวอย่าง ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการและติดตามอาการ อย่างใกล้ชิด

นพ.กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงความคืบหน้าการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดกรณีพบผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรรายแรกของไทย ที่จังหวัดภูเก็ต ว่า จากการค้นหาผู้สัมผัสใกล้ชิดเพิ่มเติมจำนวน 6 แห่ง พบผู้สัมผัสเสี่ยงสูง(High-Low risk contact) จำนวน 19 ราย โดยได้ดำเนินการเก็บตัวอย่าง ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ผลตรวจออกมาแล้วเป็นลบจำนวน 2 รายเป็นลบ อีก 17 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ

อย่างไรก็ตามได้มีการติดตามอาการ อย่างใกล้ชิดโดยเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์จะโทรศัพท์สอบถามอาการทุก 7 วัน 14 วันและ 21 วัน และในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเมื่อครบการกักตัว 21 วันแล้วจะมีการเก็บตัวอย่างเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ อีกครั้งหนึ่ง

ในส่วนของข้อมูลกลุ่มคนในสถานบันเทิง 142 ราย
คือ ผลจากการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก (Active case finding) จากการสังเกตอาการพบ 5 ราย มีอาการไข้ไอ เจ็บคอ แต่ไม่มีผื่น จึงเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ และผลตรวจออกมาเป็นลบ ทั้ง 5 ราย แต่เพื่อสร้างความมั่นใจในมาตรการการป้องกันและควบคุมโรคเจ้าหน้าที่ได้แนะนำให้ทุกคนสังเกตอาการของตนเองหากมีไข้ก็ให้ไปพบแพทย์

สำหรับโรคฝีดาษวานร เป็นโรคที่ติดต่อกันไม่ง่าย การติดต่อต้องเกิดจากการสัมผัสใกล้ชิด โดยผ่านการสัมผัสทางผิวหนังกับผู้ติดเชื้อโดยตรง จากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง น้ำหนอง ตุ่มหนอง การป้องกันฝีดาษวานรทำได้โดยสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือให้บ่อย เลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา จมูก และปาก ระวังสัตว์กัดหรือข่วน ไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น ไม่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยฝีดาษลิง และฝากถึงนักท่องเที่ยวและประชาชนว่า ยังคงสามารถเดินทางท่องเที่ยวเข้ามาในจังหวัดภูเก็ตได้ตามปกติ

Subscribe