ปปส.ภาค 8 จับมือกับภาคประชาชน สร้างการรับรู้ และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการป้องกัน ปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติด

ปปส.ภาค 8 จับมือกับภาคประชาชน สร้างการรับรู้ และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการป้องกัน ปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติด รองรับประมวลกฎหมายยาเสพติด พื้นที่จังหวัดภูเก็ต พังงา และกระบี่

ที่ โรงแรมรอยัลภูเก็ตซิตี้ นายอานุภาพ รอดขวัญ ยอดระบำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการป้องกัน ปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติด รองรับประมวลกฎหมายยาเสพติด พื้นที่จังหวัดภูเก็ต พังงา และกระบี่ โดยมี นายพีระ กาญจนพงศ์ ผอ.ปปส.ภาค 8 นายอำเภอ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ยุติธรรมจังหวัดภูเก็ต ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต นายสุเทพ เอนกคำพินิจ ประธานกองทุนแม่ของแผ่นดินจังหวัดภูเก็ต ประชาชนทั่วไป กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำศาสนา แกนนำหมู่บ้านชุมชนและหน่วยงานภาคีทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน จังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ และชุมพร รวมจำนวน 1,050 คน เข้าร่วม

นายสุเทพ กล่าวว่า โครงการสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติด รองรับประมวลกฎหมายยาเสพติด พื้นที่จังหวัดภูเก็ต พังงา และกระบี่ จัดขึ้นด้วยความร่วมมือระหว่างสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ภาค 8 และเครือข่ายกองทุนแม่ของแผ่นดินจังหวัดภูเก็ต มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับประมวลกฎหมายยาเสพติดให้แก่ประชาชน สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด มีบทบาทในการจัดการปัญหา การแจ้งเบาะแส และแก้ไขปัญหายาเสพติดในหมู่บ้านชุมชน กอร์ปกับประมวลกฎหมายยาเสพติด(ใหม่) ซึ่งมีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 ยึดหลัก ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย การนำพืชเสพติดมาใช้ประโยชน์ ทางวิทยาศาสตร์ และการแพทย์ รวมทั้งนโยบายการปลดล็อค พืชกระท่อมออกจากการเป็นยาเสพติด เพื่อใช้ตามวิถีชุมชนและพัฒนาเป็นพืชที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมรายได้ให้แก่ครอบครัวและชุมชนส่งเสริมการปลูกพืชกระท่อมใช้ตามวิถีชุมชนและพัฒนาให้เป็นพืชที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ และเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหายาเสพติดในหมู่บ้านชุมชนที่ปรากฏปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติด

นายณรงค์ กล่าวว่า การรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ รวมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เอกชน องค์กรต่าง ๆ ให้เข้ามามีส่วนร่วมกับการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด อย่างจริงจัง และต่อเนื่อง เป็นการสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับหมู่บ้าน/ชุมชน ในส่วนของภาคประชาชนต้องอาศัย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำศาสนา กรรมการหมู่บ้าน และแกนนำหมู่บ้านชุมชน ที่เข้มแข็งช่วยกันสอดส่องดูแลคนในหมู่บ้านชุมชนไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด อีกทั้งการใช้ระบบการบำบัดรักษาโดยสาธารณสุข ในการแก้ปัญหา มองผู้เสพเป็นผู้ป่วย ที่จะต้องได้รับการดูแลช่วยเหลือ สงเคราะห์ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายยาเสพติดซึ่งมีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 รวมทั้ง นโยบายการปลดล็อค พืชกระท่อมออกจากการเป็นยาเสพติด เพื่อใช้ตามวิถีชุมชนและพัฒนา เป็นพืชที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมรายได้ให้แก่ครอบครัวและชุมชน การจัดโครงการสร้างการรับรู้ และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ในการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด รองรับประมวลกฎหมายยาเสพติดพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พังงา และกระบี่ ในวันนี้ นับเป็นโครงการที่ตอบสนองต่อนโยบายการป้องกันยาเสพติดของประเทศ เพื่อให้ประชาชน ได้รับรู้ เข้าถึงกฎหมายยาเสพติด รวมทั้งปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้องตามแนวทางแห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด

Subscribe