ผู้บริหารโรงงานผลิตน้ำประปาจากน้ำทะเล ซึ่งเป็นคู่สัญญากับการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ได้เข้ายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อผู้ว่าราชจังหวัดภูเก็ต กรณีถูกจับกุม

สืบเนื่องจากกรณีที่ตำรวจชุดปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) เข้าตรวจค้นโรงงานและจับกุมผู้จัดการโครงการโรงงานผลิตน้ำประปาจากน้ำทะเล ในพื้นที่หมู่ 1 ตำบลกะรน อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต โดยกล่าวหาว่า ร่วมกันก่อตั้งโรงงานและประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมกันประกอบกิจการค้าขายอันเป็นสาธารณูปโภคโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ได้รับสัมปทานจากรัฐมนตรี ตามประกาศคณะปฏิวัติ และจากกรณีดังกล่าวทำให้ นายจตุรงค์ สดวกการ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อาร์.อี.คิว. วอเตอร์เวอร์วิสเซส จำกัด ในฐานะผู้บริหารจัดการโรงงานผลิตน้ำประปาจากน้ำทะเล ซึ่งเป็นคู่สัญญากับการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ได้เข้ายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อนายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดภูเก็ต เพื่อขอความช่วยเหลือ เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้มีการดำเนินการทุกอย่างตามขั้นตอนของกฎหมาย แต่ยังติดขัดด้วยกฎระเบียบ และได้เข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยยอมเสียค่าปรับ และอยู่ในขั้นตอนอุทธรณ์

โดยนายจตุรงค์ กล่าวถึงที่มาของการจัดทำโครงการผลิตน้ำประปาจากน้ำทะเล ว่า ด้วยในปี 2546, 2547 และ 2548 ได้เกิดวิกฤติภัยแล้งต่อเนื่องในจังหวัดภูเก็ต มีการใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำบางวาด (ขณะนั้นมีเพียงอ่างเดียว) จนหมด ทำให้ขาดแคลนน้ำดิบสำหรับผลิตเป็นน้ำประปาอย่างมาก โดยเฉพาะในปี 2548 ที่ฝนทิ้งช่วงยาวนานกว่าปกติ กระทรวงมหาดไทย โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง (นายสมชาย สุนทรวัฒน์ ) ได้สั่งการให้ การประปาส่วนภูมิภาค(กปภ.) เจรจากับบริษัทฯ เพื่อแก้ไขสัญญาซื้อน้ำประปาเพิ่มขึ้นโดยให้นำน้ำทะเลมาผลิตเป็นน้ำประปาอย่างเร่งด่วน คือให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน (ทำสัญญาแก้ไขกันเมื่อ 27ธันวาคม 2548) โดยกำหนดที่ตั้งโครงการนำน้ำทะเลมาผลิตน้ำประปาให้อยู่หาดกะรน ต.กะรน อ.เมืองภูเก็ต และให้ดำเนินการก่อสร้างไปพร้อมๆ กับการขออนุญาตและเดินเรื่องแก้ไขระเบียบ, ข้อกฎหมายที่ติดขัดในการทำโครงการฯ เพื่อให้สามารถแก้ไขการขาดแคลนน้ำประปาในพื้นที่ท่องเที่ยวที่สำคัญคือ หาดป่าตอง หาดกะรน หาดกะตะ ต่อมาทางผู้ว่าฯ ในสมัยนั้นไดมีการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาปัญหาอุปสรรคในการขออนุญาตต่างๆ เพื่อทำเรื่องเสนอกระทรวงมหาดไทยนำเข้าคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา ขอยกเว้นประเด็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สามารถขออนุญาตทำโครงการฯได้ เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2549 แต่กระทรวงมหาดไทยเลือกที่จะแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาโครงการผลิตน้ำประปาจากน้ำทะเลเกาะภูเก็ตแทนหลังจากนั้นการแก้ไขข้อกฎหมายทยอยแล้วเสร็จมาเป็นระยะๆ แม้จะใช้เวลานานหลายปี จนยังสามารถพิจารณาอนุญาตได้

การอนุญาตหรือใบอนุญาตที่สำคัญ คือ การใช้ที่ดิน ส.ป.ก. ซึ่งเป็นการใช้ที่ดินสาธารณะ ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน การอนุญาตให้วางท่อลงไปในทะเล การขยายเขตสัมปทานประกอบกิจการประปาเดิมให้ครอบคลุมโครงการ จนจังหวัดภูเก็ตได้ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานของจังหวัดขึ้นมาเพื่อช่วยแก้ไขการขออนุญาตต่างๆให้แก่โครงการนี้อีกคณะหนึ่งเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 แต่ยังไม่คืบหน้า จนเกิดเหตุการณ์ตำรวจ บก.ปทส.เข้าค้นโรงงานและจับกุมผู้จัดการโครงการฯ แม้บริษัทฯจะชี้แจงว่าได้เข้ารับสารภาพความผิดและถูกกระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินคดีโดยการเปรียบเทียบปรับแล้วตามกฎหมายโรงงานและอยู่ระหว่างอุทธรณ์คดี ซึ่งตำรวจไม่จำเป็นต้องดำเนินคดีซ้ำ แต่ทางชุดจับกุมไม่รับฟัง โดยอ้างว่า มีการร้องเรียน จึงเกิดคำถามว่า โครงการดังกล่าวจัดทำขึ้นตามนโยบายของรัฐที่ต้องการแก้ไขความเดือดร้อนเรื่องน้ำประปาในแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของภูเก็ต และการร้องเรียนก็เกิดขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่ทางชุดจับกุมกลับไม่มีการตรวจสอบที่ไปที่มาของโครงการแต่มุ่งประเด็นไปที่การจับกุม

นายจตุรงค์ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาทางบริษัทฯ พยายามดำเนินการทุกอย่างตามกฎหมายและคำแนะนำของหน่วยงานราชการทุกประการการละเมิดหรือฝ่าผืนกฎหมายต่างๆ ที่ผ่านมาบริษัทฯรับผิดเข้ากระบวนการเสียค่าปรับค่าชดเชยตามแต่กฎหมายจะกำหนด แต่ยังติดขัดขั้นตอนการพิจารณาอนุญาตที่ล่าช้าจากเหตุปัจจัยหลายประการตามที่ลำดับ จึงต้องการขอความเป็นธรรมจากทางจังหวัดภูเก็ตในกรณีที่เกิดขึ้น เพราะมองว่าการเข้าจับกุมนั้นจะเป็นการซ้ำซ้อนซึ่งทางบริษัทฯ ยอมรับผิดและมีการเสียค่าปรับอยู่แล้ว และอยู่ในขั้นตอนการอุทธรณ์ และขอให้ทางจังหวัดพิจารณาหามาตรการคุ้มครองการปฏิบัติตามสัญญา ซึ่งสัมปทานจะหมดอายุในปี 2568

อย่างไรก็ตามนายจตุรงค์ กล่าวด้วยว่า โรงผลิตน้ำประปาจากน้ำทะเลมีกำลังการผลิตเฉลี่ยวันละ 10,000-12,000 ลูกบาศก์เมตร มีประชาชนในเขตความรับผิดชอบในพื้นที่กะตะกะรน และป่าตอง ได้ประโยชน์จากโครงการไม่ต่ำกว่า 50,000 คน

Subscribe