พิธีอัญเชิญองค์ครุฑขึ้นประดิษฐานที่หน้าบันอาคารศาลากลางจังหวัดภูเก็ต(หลังใหม่)

นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานในพิธีอัญเชิญองค์ครุฑขึ้นประดิษฐานที่หน้าบันอาคารศาลากลางจังหวัดภูเก็ต(หลังใหม่) โดยมี พระเทพวชิรากร รองเจ้าคณะภาค 17 (วัดมหาธาตุวชิรมงคล อ.อ่าวลึก จ.กระบี่) เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และมี พระครูเมตตาภิรม เจ้าคณะจังหวัดภูเก็ต และพระเถรานุเถระชั้นผู้ใหญ่ ร่วมพิธีสำหรับพิธีบวงสรวงมีบัณฑิตพราหมณ์จิระเดช สมขัน (พราหมณ์เชียร) เป็นผู้ประกอบพิธี ซึ่งวัตถุประสงค์ในพิธีบวงสรวงและอัญเชิญองค์ครุฑขึ้นประดิษฐานหน้าบันอาคารดังกล่าว ตามคติไทยโบราณเชื่อกันว่า ครุฑเป็นพญาแห่งนกทั้งมวล เป็นเทพพาหนะของพระนารายณ์ ได้รับพรให้เป็นอมตะ มีพละกำลังมหาศาลและแข็งแรง ไม่มีศาสตราวุธใดทำลายลงได้ มีสติปัญญาเฉียบแหลม เฉลียวฉลาด อ่อนน้อมถ่อมตน มีสัมมาคารวะ จึงได้นำครุฑมาเป็นสัญลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จนถึงปัจจุบัน และถือเป็นตราประจำแผ่นดินหรือตราพระราชลัญจกรซึ่งหมายถึงพระราชบัลลังก์ ยังใช้เป็นตราประจำสถานที่ราชการและใช้ตราบนหัวหนังสือหรือเอกสารราชการ การอัญเชิญครุฑมาประดิษฐานหน้านในครั้งนี้เพื่อความสง่างาม และเป็น สิริมงคลแก่ผู้ปฏิบัติราชการตลอดจนผู้มาติดต่อราชการในศาลากลางจังหวัดภูเก็ต (หลังใหม่) โดยองค์ครุฑที่อัญเชิญขึ้นประดิษฐานที่หน้าบันอาคารศาลากลางจังหวัดภูเก็ต (หลังใหม่) นั้นทำจากวัสดุไฟเบอร์กลาสหล่อขึ้นรูป ทำสีทอง ปิดทับผิวด้วยแผ่นทองคำเปลวทั้งองค์ ความกว้างระหว่างปีกทั้ง 2 ข้าง เท่ากับ 1.5 เมตร ความสูงจากยอดชฏาถึงหางเท่ากับ 1.5 เมตร รวม 30 กิโลกรัมสำหรับจังหวัดภูเก็ตได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารศาลากลางจังหวัดภูเก็ต (หลังใหม่) เพื่อทดแทนอาคารศาลากลางจังหวัดภูเก็ตหลังเก่าซึ่งเสื่อมสภาพเนื่องจากก่อสร้างมาเป็นระยะเวลานานกว่า 108 ปี และประชาชนไม่ได้รับความสะดวกในการติดต่อราชการเนื่องจากสถานที่คับแคบ ทั้งนี้อาคารศาลากลางจังหวัดภูเก็ต (หลังเก่า) เป็นสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียล ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างโดยนายช่างชาวอิตาเลี่ยน ก่อสร้างระหว่างปีพุทธศักราช 2450-2456 สมัยพระยารัษฎานุประดิษฐ์ มหิศรภักดี (คอชิมบี้ ณ ระนอง) เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเปิดศาลากลางจังหวัดภูก็ต คราวเสด็จประพาสภูเก็ต ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2460 กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนอาคารศาลากลางจังหวัดภูเก็ต (หลังเก่า) เป็นโบราณสถานประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2520สำหรับอาคารศาลากลางจังหวัดภูเก็ต (หลังใหม่) ก่อสร้างในพื้นที่ศูนย์ราชการจังหวัดภูเก็ต ต.ตลาดเหนือ อ.เมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ต เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก แบบจัตุรมุข ขนาด ความสูง 5 ชั้นเป็นอาคารรูปแบบสถาปัตยกรรมชิโนยูโรเปี้ยน เริ่มก่อสร้างเมื่อเดือนกันยายน 2557 แล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน 2564 วงเงินงบประมาณก่อสร้าง รวมทั้งสิ้น 486 ล้านบาท อาคารศาลากลางจังหวัดภูเก็ต (หลังใหม่) มีส่วนราชการปฏิบัติงาน จำนวน 20 หน่วยงาน โดยเริ่มเข้ามาปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นมา ปัจจุบันมีข้าราชการและเจ้าหน้าที่รวมประมาณ 384 คนสำหรับศูนย์ราชการจังหวัดภูเก็ต ตั้งอยู่ในที่ ดินราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ 155 เนื้อที่ 54-1-67 ไร่ แบ่งพื้นที่เป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 เนื้อที่ 25-1-40 ไร่ เป็นที่ตั้งของอาคารศูนย์ราชการจังหวัดภูเก็ต ประกอบด้วย อาคารศาลากลางจังหวัดภูเก็ต (หลังใหม่) อาคารหอประชุมและอาคารจอดรถ ส่วนที่ 2 เนื้อที่ 29-0-27 ไร่ ได้จัดสร้างเป็นสวนสาธารณะ เพื่อเป็นสถานที่ออกกำลังกายและพักผ่อนหย่อนใจของประชาชน โดยจังหวัดภูเก็ตได้มอบหมายให้เทศบาลนครภูเก็ตดูแล บำรุงรักษา และบริหารจัดการสวนสาธารณะดังกล่าวสำหรับบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงศูนย์ราชการจังหวัดภูเก็ต ยังมีส่วนราชการต่างๆ ประกอบด้วย ศาลอุทธรณ์ภาค 8 สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดภูเก็ต สำนักงานอัยการจังหวัดภูเก็ต และอีกหลายส่วนราชการ ทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการติดต่อราชการมากยิ่งขึ้น

 

Subscribe