ภาคเอกชน ภูเก็ต พังงา กระบี่ ยื่นหนังสือถึง “จุรินทร์” ขอให้รัฐบาลทบทวนและเยียวยาผลกระทบจากมาตรการจัดเก็บภาษีรูปแบบใหม่เต็มอัตรา

ภาคเอกชน ภูเก็ต พังงา กระบี่ ยื่นหนังสือถึง “จุรินทร์” ขอให้รัฐบาลทบทวนและเยียวยาผลกระทบจากมาตรการจัดเก็บภาษีรูปแบบใหม่เต็มอัตรา เหตุส่วนใหญ่ยังไม่ฟื้นตัว ขอเวลาจนถึงปี 66 ซึ่งท่องเที่ยวจะกลับมา

นายก้องศักดิ์ คู่พงศกร นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ เป็นตัวแทนผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวของ จ.ภูเก็ต พังงา และกระบี่ ยื่นหนังสือต่อนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเดินทางมาราชการที่จังหวัดภูเก็ต เรื่อง การบรรเทาความเดือดร้อนจากการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ภายใต้ผลกระทบการแพร่ระบาดโรคโควิด- 19 โดยขอให้ลดหย่อนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ปี 2565 และ 2566 ร้อยละ 90% (เหมือน ปี 2564) สำหรับภาคธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม, ขอให้ยกเว้นเบี้ยปรับและเงินเพิ่มแก่ผู้ที่ได้ค้างชำระการจ่ายภาษีโรงเรือน ตาม พ.ร.บ. ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ปี 2475 และ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 2562 โดยยกเว้นให้จนถึงปี 2565, ขอให้ขยายระยะเวลาชำระภาษีที่เกิดขึ้น ตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ปี 2475 และ พ.ร.บ.ภาษี ที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง 2562 ที่เรียกเก็บ ในปี 2565 และปี 2566 โดยให้ชำระให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2567 โดยไม่คิดเบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม

นายก้องศักดิ์ กล่าวถึงเหตุที่ต้องมายื่นหนังสือเพื่อขอให้รัฐบาลทบทวนการจัดเก็บภาษีดังกล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมาส่งผลกระทบในวงกว้างทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยว แต่ต้องขอบคุณรัฐบาลที่เข้าใจและหามาตรการมาช่วยเหลือผู้ประกอบการ เพื่อให้ประคับประคองต่อสู้กับผลกระทบที่ยาวนานมาตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลต่อเศรษฐกิจต่อไปไม่ต่ำกว่า 3 ปี ภาพรวมการท่องเที่ยวขณะนี้ฟื้นตัวกลับมาประมาณร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าการระบาด แต่จะกระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ และมีความได้เปรียบในการแข่งขัน ส่วนภาคธุรกิจท่องเที่ยวยังคงต้องรอให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวขาเข้าต่อวันเพิ่มขึ้นกว่านี้ เพื่อจะส่งผลให้เกิดการกระจายตัวของรายได้ไปให้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น โดยธุรกิจการท่องเที่ยวทั้งหมดยังคงปิดตัวมากกว่าร้อยละ 60 และส่วนที่เปิดดำเนินกิจการนั้นมากกว่าร้อยละ 90 ยังประสบภาวะขาดทุนในการดำเนินธุรกิจ โดยเหตุผลที่ยังคงสู้อยู่ได้นั้น เพราะรัฐบาลมีความเข้าใจช่วยเหลือในการลดภาระต้นทุนทางด้านการเงิน ( ดอกเบี้ย ) และที่สำคัญ คือ เพื่อรักษาสภาพธุรกิจ คงการจ้างงาน รักษาสภาพทรัพย์สิน พยุงเครือข่าย ตลอดจนห่วงโซ่อุปทาน เพื่อรอคอยการฟื้นตัวอย่างทั่วถึงในปี 2566 ต่อไป
“แต่จากการที่รัฐบาลมีการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วย ภาษีโรงเรือนและที่ดิน และกฎหมายว่า ด้วยภาษีบำรุงท้องที่ โดยออกพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ใจความหลักของการเรียกเก็บภาษีรูปแบบเดิม ( พ.ร.บ. ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช 2475) จะคำนวณภาษีบนพื้นฐานของการนำที่ดินไปประกอบธุรกิจ หากที่ดินสามารถนำไปหารายได้มากก็จัดเก็บมาก หากหารายได้ไม่ได้ก็เก็บน้อยหรือไม่เก็บเลย หากมีการปิดกิจการเพราะเหตุจำเป็น แต่เมื่อเปลี่ยนรูปแบบการจัดเก็บใหม่ เป็นการเก็บตามมูลค่าของทรัพย์สิน โดยคำนวณภาษีตามราคาประเมินของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมิได้คำนวณตามศักยภาพ การนำที่ดินไปประกอบธุรกิจเช่นในอดีต ซึ่งภาคเอกชนเข้าใจเจตนาดีที่จะส่งผลดีในระยะยาวแก่ประเทศชาติ แต่การเปลี่ยนแปลงในระยะนี้ได้ส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการค่อนข้างสูง ที่ผ่านมาภาคเอกชน เช่น สภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมและสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว สมาคมโรงแรมไทย เป็นต้น ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้นำเสนอความเดือดร้อน ผลกระทบและขอให้รัฐบาลโดยผู้ที่เกี่ยวข้องพิจารณาทบทวนการช่วยเหลืออุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยวในครั้งนี้มาหลายวาระ แต่ยังไม่สัมฤทธิ์ผล ดังนั้นภาคเอกชนด้านการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ พังงา และภูเก็ต ขอยื่นหนังสือเพื่อขอให้ทบทวนมาตรการดังกล่าว และหาทางออกบรรเทาเยียวยาผลกระทบแก่ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวด้วย”

นายก้องศักดิ์ ยังกล่าวด้วยว่า ภาคเอกชนมีความเข้าใจในความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องเก็บภาษีเพื่อนำไปใช้พัฒนาประเทศ ตามแผนพัฒนา แต่เราจำเป็นต้องแจ้งให้ทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และขอให้ทบทวนรวมทั้งการเยียวยา เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป เมื่อท่องเที่ยวฟื้นตัวมากขึ้นในปี 2566 นี้

อย่างไรก็ตามรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้รับเรื่องไว้ และขอไปดูในรายละเอียด และนำเสนอรัฐบาลเพื่อหาแนวทางในการช่วยเหลือต่อไป

Subscribe