ยื่นหนังสือต่อ ผู้ว่าฯ ภูเก็ต ดันศาลากลางภูเก็ต(หลังเก่า) เป็น หอศิลปวัฒธรรม

สภาพลเมืองภูเก็ต ยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตเดินหน้าขับเคลื่อนศาลากลางภูเก็ต(หลังเก่า) ให้เป็นหอศิลปวัฒนธรรม

นายชาญ วงศ์สัตยนนท์ ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนสภาพลเมืองภูเก็ต พร้อมด้วยคณะได้ยื่นหนังสือต่อ นายณรงค์  วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เพื่อนำเสนอให้ศาลากลางจังหวัดภูเก็ตหลังเก่า จัดตั้งเป็นหอศิลปวัฒนธรรม โดยได้ยื่นเอกสารที่สำคัญประกอบด้วยโครงการหอศิลปวัฒนธรรม แบบสำรวจความคิดเห็นและภาพวาดศาลากลางหลังเก่า ซึ่งวาดภาพโดย วัชรินทร์ รอดนิตย์ ศิลปินภูเก็ตนายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า มีความยินดีที่จะรับเรื่องดังกล่าวไว้และพร้อมสนับสนุน อย่างไรก็ตามจะต้องมีการวางแผนให้ดีที่สุด เพื่อให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย การเชื่อมโยงการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่จังหวัดภูเก็ต อยากให้ขับเคลื่อนให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการส่งเสริมการท่องเที่ยวควบคู่กับการขับเคลื่อนจุดเด่นด้านเอกลักษณ์ตามแนวคิด “อาคาร อาหารและอาภรณ์” เพื่อเป็นจุดขายและสร้างความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ภูเก็ตอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ คณะทำงานสภาพลเมืองภูเก็ตเห็นว่า ศาลากลางภูเก็ต(หลังเก่า)สร้างมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยมี

พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) บริหารการก่อสร้างและเป็นที่ทำการมณฑลในระหว่างปี พ.ศ.2450-2456  นับจวบจนถึงวันนี้ (พ.ศ.2565) มีอายุ 115 ปี และกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนศาลากลางจังหวัดภูเก็ต โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2520 ให้เป็นโบราณสถาน เมื่อศาลากลางจังหวัดภูเก็ตหลังใหม่สร้างเสร็จจึงทำให้ศาลากลางภูเก็ต(หลังเก่า) ว่างลง ทางสภาพลเมืองภูเก็ตเห็นว่าควรนำอาคารดังกล่าว มาปรับปรุงเพื่อให้เป็นหอศิลปวัฒนธรรม แสดงถึงความมีอารยะของเมืองและรองรับการท่องเที่ยวใหม่ที่เน้นมูลค่ามากกว่าปริมาณ ส่งเสริมให้มีนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพมากขึ้น เป็นสถานที่ส่งเสริมพัฒนาให้เยาวชนมีความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงเป็นการรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวแบบครอบครัวที่มีคุณภาพและมีกำลังซื้อสูงส่วนการออกแบบสอบถามความเห็นในการจัดตั้งหอศิลปวัฒนธรรมภูเก็ต โดยใช้พื้นที่ศาลากลางภูเก็ต(หลังเก่า)เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2564 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2565 รวมระยะเวลา..ทั้งสิ้น 1 เดือน 7 วัน โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 783 คน ซึ่งส่วนมากคือร้อยละ 77.4 เห็นด้วยให้จัดตั้งหอศิลป์ ในขณะที่ส่วนน้อยคือผู้ไม่เห็นด้วยมีสัดส่วนที่ร้อยละ 4.5 อย่างไรก็ตาม มีสัดส่วนของผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนหนึ่งลงความเห็นว่าข้อมูลยังไม่เพียงพออยู่ที่ร้อยละ 18.1

Subscribe