ลงนามบันทึกความร่วมมือว่าด้วยการสนับสนุนและบูรณาการเครือข่ายเฝ้าระวังและดูแลรักษาทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิของประเทศไทย

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมกับ 8 หน่วยงาน ลงนามบันทึกความร่วมมือว่าด้วยการสนับสนุนและบูรณาการเครือข่ายเฝ้าระวังและดูแลรักษาทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิของประเทศไทยถือเป็นแนวทางสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบาย “ประเทศไทยปลอดภัย” (Safety Thailand) และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในระบบการเตือนภัยให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว

นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือว่าด้วยการสนับสนุนและบูรณาการเครือข่ายเฝ้าระวังและดูแลรักษาทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิของประเทศไทยณ ห้องประชุมเมโทรโพล แกรนด์ บอลรูม โรงแรมคอร์ทยาร์ด แมริออท ภูเก็ต ทาวน์ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต โดยมีนายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตกล่าวต้อนรับ และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมจำนวนมาก
โดย นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวต้อนรับว่าจังหวัดภูเก็ต เป็นเกาะที่อยู่ในทะเลอันดามัน มีพื้นที่ขนาด 543 ตารางกิโลเมตรเชื่อมต่อกับจังหวัดพังงา ประชากรทั้งหมดราว 400,000 คน ประกอบไปด้วย 3 อำเภอ คืออำเภอเมือง อำเภอถลาง และอำเภอกระทู้ ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธและอิสลาม เศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดภูเก็ตคือการท่องเที่ยว ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวมีทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเข้ามาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากจากเหตุการณ์สึนามิในปี พ.ศ. 2548 ส่งผลกระทบให้มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บสูญหาย เป็นจำนวนมาก และกระทบต่อความเชื่อมั่นในความปลอดภัย การท่องเที่ยวและการลงทุนอย่างมหาศาลการที่รัฐบาลให้ความสำคัญต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวและนักลงทุน ด้วยการวางทุ่นตรวจวัดคลื่นสีนามิ ทั้งในอ่าวเบงกอล มหาสมุทรอินเดีย และทะเลอันดามัน รวมทั้งมีการติดตั้งอุปกรณ์เตือนภัยในพื้นที่เสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากคลื่นสึนามิ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สิน สร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนให้กับจังหวัดภูเก็ตและจังหวัดชายฝั่งอันดามัน
ในโอกาสนี้ ขอขอบคุณกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่ให้ความสำคัญในความพยายามที่จะดูแลรักษาทุ่นตรวจวัดสึนามิของประเทศไทยให้สามารถใช้งานในการเฝ้าระวังแจ้งเตือนภัยสีนามิได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะสามารถ สร้างความเชื่อมั่น ความปลอดภัยให้กับพี่น้องประชาชนนักท่องเที่ยว และนักลงทุนที่จะเข้ามาในจังหวัดภูเก็ตและขายฝั่งอันดามันได้เป็นอย่างดี

ด้าน นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า ทั้ง 9 หน่วยงานได้มีความร่วมมือกันในการสนับสนุนและบูรณาการการเฝ้าระวังและดูแลรักษาทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิของประเทศไทย และเป็นการร่วมกันสร้างการรับรู้ สร้างความตระหนัก และหวงแหนทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิของประเทศไทย โดยการลงนามในบันทึกความร่วมมือฯ ในวันนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่จะมีส่วนสนับสนุน และจะช่วยให้ระบบตรวจวัดคลื่นสึนามิ มีความพร้อมใช้งานได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ สามารถแจ้งเตือนภัยให้กับประชาชน นักท่องเที่ยวในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย รวมถึงประชาชนในภูมิภาครอบมหาสมุทรอินเดีย สามารถเตรียมพร้อมรับมือและอพยพหนีภัยได้อย่างทันท่วงที ซึ่งถือเป็นแนวทางสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบาย “ประเทศไทยปลอดภัย” (Safety Thailand) และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในระบบการเตือนภัยให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว

สำหรับพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือว่าด้วยการสนับสนุนและบูรณาการเครือข่ายเฝ้าระวัง และดูแลรักษาทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิของประเทศไทยระหว่างกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกับกองทัพเรือ กรมประมง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมเจ้าท่าศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล สมาคมการประมงแห่งประเทศไทยมูลนิธิชุมชนไท และศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ ห้องประชุมเมโทรโพล แกรนด์ บอลรูม โรงแรมคอร์ทยาร์ด แมริออท ภูเก็ต ทาวน์และท่าเรือน้ำลึก ตำบลวิชิต อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ในวันนี้ สืบเนื่องจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติมีภารกิจด้านการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยจากคลื่นสึนามิ โดยมีการติดตั้งทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิ จำนวน 2 จุด จุดที่หนึ่ง ในน่านน้ำสากลบริเวณมหาสมุทรอินเดีย ห่างจากเกาะภูเก็ตไปทางทิศตะวันตกประมาณ 965 กิโลเมตร จุดที่สอง ในทะเลอันดามันบริเวณเขตน่านน้ำเศรษฐกิจของประเทศไทย ห่างจากเกาะภูเก็ตไปทางทิศตะวันตกประมาณ 340 กิโลเมตร ซึ่งทุ่นตรวจวัดคลื่นสีนามิดังกล่าวจะต้องมีการดูแลรักษาเป็นประจำทุก ๆ 2 ปี ที่ผ่านมากรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประสบปัญหาทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิมีการหลุดลอยออกจากตำแหน่งที่ติดตั้ง จนเกิดความชำรุดเสียหาย ดังนั้น เพื่อเป็นการบูรณาการร่วมกัน และเป็นการร่วมกันสร้างการรับรู้ สร้างความตระหนัก และหวงแหนทุ่นตรวจวัดคลื่นสีนามิของประเทศไทย และเพื่อให้ระบบตรวจวัดคลื่นสีนามิ พร้อมใช้งานได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ สามารถแจ้งเตือนภัยให้ประชาชน นักท่องเที่ยวในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทยสามารถเตรียมพร้อมรับมือและอพยพหนีภัยได้อย่างทันท่วงที กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงได้ร่วมกับ 8 หน่วยงาน พิจารณาตรวจสอบร่างบันทึกความร่วมมือว่าด้วยการสนับสนุนและบูรณาการเครือข่ายเฝ้าระวังและดูแลรักษาทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิของประเทศไทย ให้สามารถใช้สำหรับบูรณาการร่วมกันได้อย่างมีความเหมาะสม ถูกต้อง ไม่ขัดต่อกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทั้ง 9 หน่วยงานจะร่วมลงนามในครั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการยืนยันว่าทั้ง 9 หน่วยงานยินดีให้การสนับสนุนการเฝ้าระวังและดูแลรักษาทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิของประเทศไทย พร้อมทั้ง สร้างการรับรู้และความตระหนักให้กับประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการติดตั้งทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิเพื่อการแจ้งเตือนภัยสึนามิในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน โดยถือเป็นการร่วมกันเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการและสาธารณะบันทึกความร่วมมือว่าด้วยการสนับสนุนและบูรณาการเครือข่ายเฝ้าระวังและดูแลรักษาทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิของประเทศไทยฉบับนี้ มีผลบังคับใช้ร่วมกันเป็นเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ลงนาม

Subscribe