ศรชล.ภาค 3 จับเรือประมงอินโดนีเซียลุกล้ำน่านน้ำไทย

ที่ บริเวณหลักจอดเรือตำรวจน้ำภูเก็ต ท่าเทียบเรือรัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต น.อ.ณฐพงศ์ เศวตรักต ผู้บังคับหมวดเรือเฉพาะกิจ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ภาค 3 (ศรชล.ภาค 3) พร้อมด้วย น.อ.พิเชษฐ์ ซองตัน โฆษก ศรชล ภาค 3, ผู้แทนตำรวจน้ำ, ผู้แทนประมงประมงจังหวัดภูเก็ต และนายสมยศ วงศ์บุญกุล นายกสมาคมประมงจังหวัดภูเก็ต ร่วมกันแถลงผลการจับกุมเรือประมงสัญชาติอินโดนีเซีย พร้อมไต๋ก๋งและลุกเรือรวม 11 คน ซึ่งลักลอบทำการประมงในน่านน้ำไทย ทางทิศตะวันตกของเกาะภูเก็ต ระยะห่างจากเกาะภูเก็ตประมาณ 45 ไมล์ทะเล

น.อ.ณฐพงศ์ เศวตรักต ผู้บังคับหมวดเรือเฉพาะกิจ กล่าวว่า ทาง พล.ร.ท.สมพงษ์ นาคทอง ผอ.ศรชล.ภาค 3 สั่งการให้หมวดเรือเฉพาะกิจ ศรชล.ภาค 3 จัดกำลังทางเรือออกปฏิบัติการในพื้นที่เป้าหมาย หลังได้รับแจ้งจากเครือข่ายประมงว่า พบกลุ่มเรือประมงต่างชาติ กำลังลักลอบทำการประมงในน่านน้ำไทยบริเวณ แลตติจูด 7 องศา 41 ลิปดา 50 ฟิลิปดา ลองติจูด 97 องศา 38 ลิปดา 59 ฟิลิปดา หรือประมาณ 45 ไมล์ทะเล ทางทิศตะวันตกของเกาะภูเก็ต โดยหมวดเรือเฉพาะกิจได้นำเรือหลวงแหลมสิงห์ออกปฏิบัติการในทันที จนกระทั่งดังได้ตรวจพบกลุ่มเรือประมงต่างชาติทำการประมงในน่านน้ำไทย และสามารถจับกุมได้ 1 ลำ พร้อมลูกเรือ 11 คน ส่วนเรือที่เหลือได้หนีออกจากน่านน้ำไทยไปทางทิศตะวันตก

ขณะที่ น.อ.พิเชษฐ์ ซองตัน โฆษก ศรชล ภาค 3 ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สำหรับเรือประมงที่จับได้มีขนาดยาวประมาณ 60 ฟุต มีลูกเรือเป็นชาวอินโดนีเซีย จำนวน 11 นาย โดยเรือหลวงแหลมสิงห์ได้นำเรือประมงที่จับได้พร้อมลูกเรือเข้าฝั่งบริเวณหลักจอดเรือตำรวจน้ำภูเก็ต ท่าเรือรัษฎา และนำลูกเรือทั้งหมดส่งพนักงานสอวน สภ. ฉลอง เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

สำหรับสถิติการรับแจ้งว่ามีเรือประมงสัญชาติอินโดนีเซีย/ต่างชาติ ลักลอบเข้ามาทำการประมงในน่านน้ำไทย ในแต่และปีนั้น ศรชล.ภาค 3 ได้รับแจ้งมากกว่า 10 ครั้ง ส่วนใหญ่จะเป็นการเข้ามาลักลอบขโมยอุปกรณ์ดักจับปลาของเรือประมงไทยที่วางดักปลาไว้ เมื่อทาง ศรชล.ภาค 3 ได้รับแจ้งจะนำเรือออกไปจับกุม แต่เรือเหล่านั้นก็หนีออกไปยังน่านน้ำอินโดนีเซียไม่สามารถจับกุมได้ทัน สร้างความเสียหายให้กับชาวประมงไทยอย่างมหาศาล

ทั้งนี้ในปี 2564 มีการจับกุมเรือประมงสัญชาติอินโดนีเซียที่ลักลอบเข้ามาทำการประมงในน่านน้ำประเทศไทยจำนวน 1 ครั้ง ปัจจุบันผู้ต้องหายังคงถูกจำขังอยู่ในประเทศไทย ส่วนของกลาง (เรือประมงสัญชาติอินโดนีเซีย) ยังคงจอดเก็บไว้ที่ท่าเรือรัษฎา และในปี 2565 จับแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2565 จับได้ 2 ลำ ได้แก่ เรือประมงชนิดวางเบ็ดราว ยาว 20 ฟุต พร้อมลูกเรือ 6 คน กับเรือประมงชนิดอวนล้อมจับและปั่นไฟ ตัวเรือสีขาว เก๋งเรือสีส้ม ขนาดกว้าง 3.2 เมตร ยาว 13.05 เมตร ขนาดเรือน้อยกว่า 25 ตันกรอส พร้อมลูกเรือ 5 คน และปลาโฮ 5 กิโลกรัม ขณะกำลังทำการประมงในน่านน้ำประเทศไทย ที่ระยะประมาณ 38.5 ไมล์ทะเล ทางทิศตะวันตกของเกาะภูเก็ต ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ได้ตรวจสอบพบเรือประมงอินโดนีเซียกำลังลักลอบทำการประมงในน่านน้ำไทย บริเวณแนวชายแดนทางทะเลไทย-อินโดนีเซีย ทางทิศตะวันตกของเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล จำนวน 3 ลำ เป็นเรือวางเบ็ดราว มีตัวเรือมีความยาวประมาณ 20 ฟุต โดยจับกุมได้ 1 ลำ พร้อมด้วยผู้ต้องหาอีก 6 คน ส่วนที่เหลืออีก 2 ลำ ได้ปิดไฟบนเรือเพื่อทำการอำพลางเรือของตนเองและได้เร่งเครื่องยนต์ทำการหลบหนีเข้าไปในเขตน่านน้ำของประเทศอินโดนีเซีย และครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 3 จับกุมเรือได้ 1 ลำ พร้อมลูกเรือ 11 คน

ในส่วนของความเสียหายและผลกระทบ นั้นทำให้ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลถูกแย่งชิง ทำให้มีจำนวนลดลง, ในบางครั้ง มีการทำลายเครื่องมือทำการประมง (ซั้งและลอบดักปลา) ของชาวประมงไทย สร้างความเสียหาย ต่ออุปกรณ์โดยตรง ซึ่งอุปกรณ์แต่ละชิ้นมีมูลค่าประมาณ 40,000 บาท

Subscribe