หนึ่งในไทยแลนด์ พลับพลึงธาร ราชินีแห่งสายน้ำ ไม้ประจำถิ่นใกล้สูญพันธุ์

หนึ่งในไทยแลนด์ พลับพลึงธาร ราชินีแห่งสายน้ำ ไม้ประจำถิ่นใกล้สูญพันธุ์ออกดอกบานสะพรั่งรับหน้าหนาวที่คุระบุรี

ในช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี เป็นช่วงที่เปลี่ยนผ่านจากฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาว หรือช่วงปลายฝนต้นหนาว จะเป็นช่วงที่ดอกพลับพลึงธาร เริ่มออกดอกชูช่อบานสะพรั่งสวยงามอยู่ในลำคลอง ส่งกลิ่นหอมรับหน้าหนาว ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็น “ราชินีแห่งสายน้ำ”

นับเป็นพืชน้ำเฉพาะถิ่นของประเทศไทยที่อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ พบได้ในแถบจังหวัดพังงาและระนองเท่านั้น โดยที่พังงานั้นพบได้บริเวณแม่น้ำ ลำคลอง ในพื้นที่ อ.คุระบุรี อ.ตะกั่วป่า และอ.กะปง และจังหวัดระนอง พบที่ อ.สุขสำราญ และ อ.กะเปอร์ โดยที่สวนของคุณตาเลื่อน มีแสง หรือตาเลื่อน บ้านบางซอย ต.คุระ อ.คุระบุรี จ.พังงา ซึ่งเป็นจุดที่มีดอกพลับพลึงธารมากที่สุด เนื่องจากคุณตาเลื่อนเป็นคนอนุรักษ์และขยายพันธุ์พลับพลึงธารให้อยู่ในลำคลองเล็กๆที่ไหลผ่านสวนยางพารา พบว่าขณะนี้ดอกพลับพลึงธาร กำลังบานสะพรั่งชูช่อดอกที่สวยงามพร้อมกับส่งกลิ่นหอมเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมได้ในระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคมของทุกปี นับเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ต้องห้ามพลาดอีกหนึ่งแห่งของ อ.คุระบุรี จ.พังงา

พลับพลึงธาร หรือช้องนางคลี่ หรือหอมน้ำเป็นพันธุ์ไม้ที่ใกล้สูญพันธุ์ เป็นพืชน้ำเฉพาะถิ่นของประเทศไทย พบได้ในแถบจังหวัดพังงาและระนองเท่านั้น พลับพลึงธารเป็นพืชอวบน้ำในช่วงฤดูฝนที่น้ำหลากจะมีการผสมเกสร โดยในแต่ละผลจะมีเมล็ดข้างใน 3-4 เมล็ด และจะออกดอกบานสะพรั่งในช่วงปลายฤดูฝน หรือต้นฤดูหนาว ประมาณเดือนตุลาคม-ธันวาคมของทุกปี ดอกพลับพลึงธาร เป็นดอกไม้ประจำท้องถิ่น ลักษณะของดอกพลับพลึงธาร จะเป็นดอกตูมสีขาว มี 6 กลีบ ในก้านชูดอกหนึ่ง ๆ มีหลายก้านดอก จะทยอยบานติดต่อกันไป เมื่อบานแล้วจะส่งกลิ่นหอม ซึ่งพบว่ามีปริมาณลดลงอย่างต่อเนื่องสาเหตุจากการขุดลอกคลอง และจากภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น รวมถึงการลักลอบขุดเอาออกไปจากพื้นที่

พลับพลึงธารได้ถูกขึ้นบัญชีให้เป็นพืชที่ใกล้สูญพันธุ์ของโลก (IUCN Redlist) เมื่อปี 2554 พลับพลึงธาร ถือว่าเป็นดรรชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของน้ำและลำคลองได้ ด้วยดอกพลับพลึงธารมีความสวยงามประกอบกับความหายาก จึงทำให้ได้รับฉายาว่า “ราชินีแห่งสายน้ำ”

Subscribe