หมอยืนยัน กรณี เด็กอายุ 12 ปี ตาบอดไม่ใช่จากการฉีดวัคซีน แต่เกิดจากโรคไซนัสเฉียบพลัน

หมอยืนยัน กรณี เด็กอายุ 12 ปี ตาบอดไม่ใช่จากการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ แต่เกิดจากโรคไซนัสเฉียบพลัน โดยผลการยืนยันจากการนำน้ำจากเบ้าตา ฐานกะโหลก และไขสันหลัง ไปตรวจพบเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส

สืบเนื่องกรณีที่นายก้าน แซ่อ๋อง อายุ 62 ปี และนางเกสี แซ่อ๋อง อายุ 62 ปี ซึ่งเป็นปู่และย่าของเด็กชาย นนทพัท แซ่อ๋อง หรือน้องโบ๊ท อายุ 12 ปี ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ ต.เทพกระษัตรี อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ร้องเรียนผ่านสื่อมวลชน ว่า หลานชายได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ จนทำให้ตาบอดไม่สามารถมองเห็นและกลับไปเรียนหนังสือได้ ต้องการให้หน่วยงานภาครัฐเข้าช่วยเหลือ เนื่องจากทางครอบครัวมีฐานะลำบาก

สำหรับความหน้าล่าสุด ที่ ห้องประชุมมุขหน้าชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วย นายแพทย์วีระศักดิ์ หล่อทองคำ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต พร้อมทีมแพทย์ที่ทำการรักษา ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ อำเภอถลาง พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นต้น ได้ร่วมกันแถลงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอาการ สรุปว่า ปัญหาสายตาของน้องนั้น ไม่ได้เป็นผลมาจากการรับวัคซีน แต่มาจากอาการไซนัสอักเสบเฉียบพลัน ซึ่งที่ผ่านมาทางทีมแพทย์และหน่วยงานที่เกี่ยวได้มีการเข้าดูแลและติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง และอยู่ในระหว่างการฟื้นฟู รวมถึงการเตรียมการเพื่อส่งตัวไปรักษากับแพทย์เฉพาะทางในส่วนกลาง

แพทย์หญิงณัฐวรรณ เทพณรงค์กุมารแพทย์ โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ได้สรุปผลการรักษาและแนวทางในการรักษา ว่า ผู้ป่วยได้รับการส่งตัวจากโรงพยาบาลถลางมายังโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2564 จากการซักประวัติ พบว่า เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 ผู้ป่วยได้รับวัคซีนไฟเซอร์ เข็มที่ 2 (10 วันก่อนที่จะเข้าโรงพยาบาล) และพบว่า 7 วันก่อนที่จะเข้ารับการรักษา มีตุ่มหนองขนาด 1 เซนติเมตร ที่หน้าแข้งด้านขวา โดยได้มีการบีบหนองออกเองและแผลหายไปไม่ได้รับการรักษาอื่น และ 3 วันก่อนที่จะมาโรงพยาบาลมีอาการไข้ขึ้น และหนาวสั่นตอนกลางคืน โดย 2 วันก่อนเข้าโรงพยาบาลผู้ป่วยมีเปลือกตาด้านขวาบวมแดง ตามองไม่เห็นไม่ชัด เริ่มมีตามัว และก่อนเดินทางเข้ารับการรักษาเริ่มรู้สึกว่า ลืมตาขวาไม่ขึ้น เปลือกตาบวมมากขึ้น กระทั่งอาการซึมและต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ จากนั้นได้นำตัวส่งโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต

“เมื่อมาถึงห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล ผู้ป่วยมีอาการชักเกร็งจึงให้ยากันชักผ่านทางหลอดเลือดดำ และส่งตรวจทีซีสแกนสมอง เพื่อหาสาเหตุอาการชัก ไข้และเปลือกตาที่บวมแดง ผลพบว่า เนื้อสมองอักเสบ เปลือกตาและเบ้าตาขวาอักเสบ พบการอักเสบของไซนัสหลายตำแหน่ง จึงได้รักการรักษาในหอผู้ป่วยหนักกุมารเวชกรรมหรือไอซียูเด็ก ตั้งแต่วันที่ 6-22 ธ.ค.64 โดยใส่ท่อช่วยหายใจตั้งแต่วันที่ 6-16 ธ.ค.64 หลังจากอาการคงที่ได้ย้ายมายังหอผู้ป่วยกุมารเวชกรรม และรักษาต่อเนื่องจนออกจากโรงพยาบาลได้ในวันที่ 10 กมราคม 2565”

แพทย์หญิงณัฐวรรณ สรุปการวินิจฉัยโรค ว่า ผู้ป่วยมีอาการไซนัสอักเสบฉับพลันจากทุกไซนัส จากเชื้อแบคทีเรียจากเชื้อแบคทีเรียสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) พบได้จากการอักเสบติดเชื้อบริเวณผิวหนัง และพบในการติดเชื้ออักเสบฉับพลันได้, ,มีเบ้าตาอักเสบและมีฝีหนองในเบ้าตาด้านขวาจากเชื้อแบคทีเรียชนิดเดียวกัน, มีเยื่อหุ้มสมองและเนื้อสมองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียสเช่นกัน นอกจากนี้กระดูกรอบ ๆ โพรงไซนัสและกระดูกรอบเบ้าตาอักเสบ และภาวะอุดตันของแอ่งเลือดดำบริเวณฐานกะโหลก (Cavernous sinus thrombosis) ทั้งหมดเป็นภาวะที่เกิดร่วมกัน ซึ่งการอักเสบของไซนัสอาจจะเป็นวาเหตุของการทำให้เบ้าตาอักเสบ
ทีมแพทย์ได้มีการดูแลร่วมกันทันทีที่ผู้ป่วยถึงไอซียูเด็ก ประกอบด้วย แพทย์หูคอจมูก จักษุแพทย์และกุมารแพทย์ ซึ่งเมื่ออาการผู้ป่วยคงที่ก็ได้มีการนำตัวไปผ่าตัดไซนัส และพบหนองในบริเวณไซนัส โดยได้มีการส่งหนองไปเพาะเชื้อ พบเชื้อแบคทีเรียสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส หลังจากผ่าตัด ตาด้านขวายังบวมอยู่ และตาด้านซ้ายเริ่มบวมมากขึ้น จึงส่งตรวจเอ็กซเร่ย์ไฟฟ้าแม่เหล็กหรือเอ็มอาร์ไอ โดยตรวจสมองและบริเวณตาด้วย พบว่ามีฝีหรือหนองที่เบ้าตาด้านขวา คณะแพทย์ลงความเห็นให้มีการเปิดเพื่อระบายหนองที่ตาด้านขวาออก จากการส่งชิ้นเนื้อไปเพาะเชื้อพบเชื้อแบคทีเรียสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียสเช่นกัน ส่วนกรณีที่เยื่อหุ้มสมองและเนื้อสมองอักเสบ จากทีซีสแกนวันแรกเจอว่า มีการอักเสบของเนื้อสมองและจากการทำเอ็มอาร์ไอในวันถัดมาพบมีการอักเสบของเนื้อและเยื่อหุ้มสมอง จากนั้นมีการเจาะตรวจน้ำไขสันหลัง พบการอักเสบเหมือนการติดเชื้อแบคทีเรีย มีการส่งตรวจเพาะเชื้อ เบื้องต้นไม่พบเชื่อ แต่ได้ส่งตรวจหาสารพันธุกรรมแบคทีเรีย เนื่องจากมีการเจาะน้ำไขสันหลังหลังจากให้ยาฆ่าเชื้อไปแล้ว ผลเป็นเชื้อแบคทีเรียสแตปฟิโลคอคคัส ส่วนการพบกระดูกรอบๆ โพรงไซนัสและกระดูกรอบเบ้าตาอักเสบ พบจากการตรวจเอ็มอาร์ไอจากสมอง

ด้าน นพ. คงกฤช กาญจนไพศิษฐ์ แพทย์ หู คอ จมูก โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้ตาบอด เกิดจากอาการไซนัสเฉียบพลัน และมีการลุกลามเข้าไปในตา บริเวณฐานสมอง ซึ่งมีเส้นประสาทตา และกลุ่มเส้นประสาทที่มาเลี้ยงตา รวมทั้งยังมีแอ่งเลือดดำอยู่ จึงทำให้ตาบวมและอักเสบ เมื่อลุกลามไปถึงฐานสมองทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เส้นเลือดดำบริเวณดังกล่าวอักเสบ ทำเด็กเกิดอาการซึม ไม่รู้สึกตัวและตอบสนองช้า ประกอบกับบริเวณดังกล่าวมีกลุ่มเส้นประสาทจำนวนมาก รวมถึงเส้นประสาทตา จึงทำให้เกิดการอักเสบได้ ร่วมกับเลือดดำบริเวณนี้รับเลือดมาจากตา ฉะนั้นสาเหตุที่ทำให้เด็กสูญเสียการมองเห็น เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส โดยอาจจะเริ่มต้นจากไวนัสและลุกลามเข้าไปในตาและฐานสมอง ทำให้เกิดภาวการณ์อักเสบของตาและเส้นประสาทตา และเส้นประสาทที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อตา หลักฐานที่สนับสนุน คือ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อจากไซนัส ตาและน้ำไขสันหลัง ตรวจพบ เป็นเชื้อแบคทีเรีย สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส เหมือนกัน ดังนั้นความเห็นทางการแพทย์จึงสนับสนุนว่า การสูญเสียการมองเห็น เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส

ด้าน นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ตได้รับทราบข้อมูลและได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อให้การช่วยเหลือและดูแลเด็กและครอบครัวอย่างใกล้ชิด

 

Subscribe