เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่ โครงการสร้างแลนด์มาร์คแห่งใหม่ “สะพานกระจก เขาแดง”

อบจ.ภูเก็ต ร่วมกับ เทศบาลตำบลราไวย์ เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่ โครงการสร้างแลนด์มาร์คแห่งใหม่ “สะพานกระจก เขาแดง” ต.ราไวย์ ออกแบบใกล้เสร็จ เป็นทางเดินลอยฟ้าที่สวยงามและหวาดเสียว คนราไวย์ที่เข้าร่วมเห็นด้วย เพราะมองว่าจะเกิดประโยชน์กับคนในพื้นที่

เทศบาลตำบลราไวย์ จัดประชุมประชาคมเพื่อจัดทำแผนพัฒนาเทศบาลตำบลราไวย์ โดยมี นายอรุณ โสฬส นายกเทศมนตรีตำบลราไวย์ เป็นประธานเปิด ซึ่งมี นายเรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต นายนิกร ปภากิจยศพัฒน์ นายธีรพงศ์ เถาแดง รองนายกเทศมนตรี สมาชิกสมา ผู้นำชุมชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชนในพื้นที่ตำบลราไวย์ เข้าร่วม ณ โรงแรมสันติ์สุริย์ ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต

ในโอกาสนี้ องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต (อบจ.) ได้ร่วมกับ บริษัท คอร์ เทคโนโลยี คอนซัลแตนส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ อบจ.ภูเก็ต ได้ว่าจ้างให้ออกแบบสะพานกระจก ที่บริเวณเขาแดง ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต นำเสนอรูปแบบโครงการสะพานกระจก ให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบ พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ตำบลราไวย์

นายเรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า อบจ.ภูเก็ต มีแนวคิดที่จะสร้างแหล่งท่องเที่ยวและแลนด์มาร์คแห่งใหม่ให้ภูเก็ต เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติให้เดินทางมาท่องเที่ยวภูเก็ตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวคนไทยที่ยังมีอีกจำนวนมากที่ยังไม่เคยมาเที่ยวภูเก็ต จึงได้กำหนดจุดสร้างแลนด์มาร์คไว้ 2 จุดด้วยกัน คือ สะพานกระจก ที่บริเวณเขาแดง หมู่ที่ 6 ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต และระเบียงกระจก ที่หาดสุรินทร์ ต.เชิงทะเล ซึ่งทั้ง 2 จุด นี้ อบจ.ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาทำการศึกษาออกแบบรายละเอียดของโครงการไปพร้อมๆกับการขอใช้พื้นที่สาธารณะกับทางจังหวัดภูเก็ต และกรมป่าไม้ ซึ่งขั้นตอนนี้จะแล้วเสร็จภายในเดือน ส.ค.นี้ ส่วนการออกแบบนั้นจะแล้วเสร็จภายในเดือน พ.ย.2565 นี้ ตามสัญญาจ้าง

“วันนี้ทาง อบจ.ได้ร่วมกับบริษัทที่ปรึกษามานำเสนอรูปแบบของสะพานกระจก ที่บริเวณเขาแดง เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ตำบลราไวย์ ในการนำไปปรับปรุงในส่วนของการออกแบบต่อไป โดยในเบื้องต้นนั้นคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณในการลงทุนกว่า 200 ล้านบาท” นายเรวัต กล่าวและว่า

เชื่อว่าเมื่อโครงการนี้แล้วเสร็จ จะกลายเป็นแลนด์มาร์คที่ดึงนักท่องเที่ยวมาเที่ยวภูเก็ต จะเป็นการสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ราไวย์และภูเก็ต เพราะสะพานกระจกแห่งนี้จะถูกออกแบบให้มีความสวยงาม ตื้นเต้น และหวาดเสียว สามารถมองเห็นวิวทะเลได้อย่างสวยงาม

นายณัฐฉัตร ฮึงวัฒนากุล ผู้จัดการโครงการออกแบบสะพานกระจก กล่าวว่า การออกแบบสะพานกระจกแห่งนี้ ในเบื้องต้นได้ออกแบบไว้ 3 รูปแบบด้วยกัน คือ สไตล์ซิโนโปรตุกีส ไข่มุกแห่งอันดามัน และ ประตูสู่อันดามัน ซึ่งรูปแบบที่มีความเหมาะสมและสอดรับกับสภาพพื้นที่มากที่สุด คือ ประตูสู่อันดามัน โดยมีแนวคิดการออกแบบภาพลักษณ์อาคาร เป็นการส่งเสริมให้โครงการนำพาเมืองภูเก็ตไปสู่สายตาชาวโลก คล้ายการโบยบินอย่างมีอิสรภาพ จึงได้นำแนวคิดความพลิ้วไหวของปีกนักอินทรีย์มาเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบ ที่ดูเบาและโปร่ง มีส่วนที่เป็นช่องลม รู้สึกเบาสบายของโครงสร้างเพื่อเปิดมุมมองสู่ทะเลอันดามัน พร้อมโบยบินไปสู่โลกกว้าง ที่มีความกลมกลืนกับธรรมชาติ รองรับการใช้งานได้หลากหลาย

โดยเป็นทางเดินลอยฟ้า หรือ Sky Walk ที่ตื่นตาตื่นใจ และหวาดเสียว เป็นสะพานกระจกที่ยื่นออกไปจากหน้าผาประมาณ 10 เมตร และยกระดับให้สูงจากระดับทางเดินขึ้นไปอีก เพื่อให้เกิดความหวาดเสียว สามารถรองรับได้ครั้งละ 50 คน และพื้นที่ใช้สอยอื่นๆ ทั้งในส่วนของลานกิจกรรม พื้นที่สำหรับชุมชน ห้องประชุม และพื้นที่บริการนักท่องเที่ยวต่างๆ โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณในการลงทุนประมาณ 250 ล้านบาท โดยการออกแบบทั้งหมดจะแล้วเสร็จและส่งมอบงานให้กับ อบจ.ภายในเดือน พ.ย.2565 นี้

อย่างไรก็ตาม จากการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ ประชาชนที่ร่วมแสดงความคิดเห็น เห็นด้วยกับโครงการที่จะเพิ่มจุดท่องเที่ยวในพื้นที่ราไวย์ แต่อยากจะให้เพิ่มจุดที่สร้างความตื่นตาตื่นใจและหวาดเสียวเพิ่มขึ้น ซึ่งข้อคิดเห็นทั้งหมดทางบริษัทจะนำไปปรับปรุงการออกแบบใหม่มานำเสนอีกครั้งในช่วงปลายเดือน ส.ค.2565 นี้

อย่างไรก็ตาม ประชาชนชาวราไวย์ที่เข้าร่วมรับฟังในวันนี้ ต่างเห็นด้วยกับโครงการสะพานกระจก เพราะมองว่าจะเป็นการเพิ่มแหล่งท่องเที่ยวให้ภูเก็ตและพื้นที่ราไวย์ และต้องการให้แบบที่ออกมานั้น มีความสวยงาม มีความหวาดเสียว และเห็นว่าแบบที่ออกมานั้นจะต้องไม่กระทบกับสภาพแวดล้อมและการใช้ประโยชน์ของสนามฟุตบอลที่มีชาวบ้านมาเล่นฟุตบอลและออกกำลังกาย รวมไปถึงมีการปรับปรุงสนามฟุตบอลให้สวยงาม และหากเป็นไปได้เมื่อสร้างแล้วเสร็จให้ อบจ.ภูเก็ต ถ่ายโอนให้เทศบาลตำบลราไวย์บริหารจัดการ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับคนในพื้นที่ตำบลราไวย์

โดยนายอรุณ โสฬส นายกเทศมนตรีตำบลราไวย์ กล่าวว่า โครงการสะพานกระจก ที่เขาแดงนั้น เป็นโครงการที่ดี ที่จะเพิ่มแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ตำบลราไวย์ และจะเป็นจุดดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวพื้นที่เพิ่มขึ้น จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของราไวย์ เมื่อจะสร้างสะพานกระจกก็อยากจะให้รูปแบบที่ออกมามีความสวยงามสอดรับกับสภาพพื้นที่ที่มีความสวยงาม และต้องการให้สะพานกระจกที่จะเกิดขึ้นมีความสวยงาม ตื่นเต้น และหวาดเสียว เพื่อดึงให้คนมาเพิ่มขึ้นและมาแล้วมา

Subscribe