เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการท่าเทียบเรือยอชต์ “อ่าวกุ้งมารีน่า” ในพื้นที่ป่าคลอก

เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการท่าเทียบเรือยอชต์ “อ่าวกุ้งมารีน่า” ในพื้นที่ป่าคลอก ชาวบ้านเข้าร่วมเวทีหนุนให้เกิด มองเป็นการสร้างความเจริญและช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ ให้ชุมชน ด้านเจ้าของโครงการเผยอ่าวกุ้งมารีน่าลงทุนโดยคนในพื้นที่ นำที่ดินบ่อเลี้ยงกุ้งร้างมาพัฒนาเป็นท่าเทียบเรือยอชต์ ใช้เงินลงทุน 800 ล้าน สร้างเสร็จภายใน 2 ปี จอดเรือได้ 75 ลำ

ที่ ห้องประชุมเทศบาลตำบลป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ได้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 3 การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการท่าเทียบเรือสำราญและกีฬาอ่าวกุ้งมารีน่า โดยโครงการท่าเทียบเรือสำราญและกีฬาอ่าวกุ้งมารีน่า และ บริษัท เอ็นริช คอนซัลแตนท์ จำกัด ที่ปรึกษาและจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการ โดยมี นายสุวิทย์ สุริยะวงศ์ นายอำเภอถลาง เป็นประธานเปิด และมีกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน ประมงพื้นบ้าน และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ในพื้นที่ภูเก็ต เข้าร่วม เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่เพื่อจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม

นางกวินทิพย์ ก้องกุล ตัวแทน บริษัท เอ็นริช คอนซัลแตนท์ จำกัด ได้นำเสนอรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการท่าเทียบเรืออ่าวกุ้งมารีนา ว่า โครงการท่าเทียบเรืออ่าวกุ้งมารีน่า ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 9 ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เป็นการก่อสร้างบนที่ดินเอกสารสิทธ์ของเอกชน เนื้อที่ 30 ไร่ แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 ส่วน คือ ที่จอดเรือ 75 ท่า รองรับเรือได้ 75 ลำ รองรับเรือสูงสุด 18 เมตร มีพื้นที่แอ่งจอดเรือทั้งหมด 35,000 ตรม.และในส่วนของพื้นที่บริการ ก่อสร้างอาคารชั้นเดียว 8 อาคาร เช่น โรงเก็บเรือ อาคารงานระบบ อาคารสำนักงาน โรงซ่อมบำรุงเรือ ห้องน้ำ ศาลาพักคอย เป็นต้น

โดยในส่วนของมาตรการเพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการนั้น เนื่องจากโครงการสร้างในที่ดินเอกชน จึงไม่มีการขุดลอกล่องน้ำ ไม่มีการขุดดินเพื่อการค้าใดๆทั้งสิ้น การขุดแอ่งจอดเรือ จะขุดแบบแห้งในช่วงเดือน ธ.ค.-เม.ย.และเป็นช่วงที่น้ำทะเลลงต่ำสุด และดินที่ขุดจากโครงการจะนำมาปรับพื้นที่โครงการ ส่วนที่เหลือจะไม่นำออกนอกพื้นที่แต่อย่างใด จะเก็บไว้ในจุดที่อยู่ใกล้กับโครงการ ซึ่งเป็นที่ดินของเจ้าของโครงการ การขุดแอ่งจอดเรือและอาคารบริการนั้น จะใช้เวลาประมาณ 22 เดือน

ในเรื่องของจัดการขยะมูลฝอย จะให้รถขยะของเอกชนเข้ามาดำเนินการ ส่วนน้ำใช้นั้นจะซื้อรถน้ำของเอกชนเช่นกัน การจัดการน้ำเสีย จัดให้มีระบบดักไขมัน ระบบบำบัดน้ำเสีย 6 ชุด ก่อนที่เข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสียรวม โดยน้ำที่ผ่านมาบำบัดแล้วจะนำไปใช้รดน้ำต้นไม้ภายในโครงการจากการศึกษาพบว่า การก่อสร้างไม่กระทบต่อระบบนิเวศน์ทางทะเลในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งมีไม้โกงกางใบเล็กและใบใหญ่ รวมถึงต้นลำพู เพราะการก่อสร้างอยู่เฉพาะพื้นที่ของเอกชนไม่ได้รุกล้ำไปยังป่าชายเลนใกล้เคียง ส่วนผลกระทบด้านปะการังและหญ้าทะเล นั้น จากการสำรวจในรัศมี 2 กิโลเมตร ไม่พบหญ้าทะเลในบริเวณนั้น พบแนวปะการังที่บริเวณหลังแดงห่างจากโครงการ 1.5 กม.และพบปะการังที่เกาะเฮ ซึ่งอยู่ห่างจากโครงการเกิน 2 กม.การก่อสร้างไม่ได้ส่งผลกระทบต่อปะการังแต่อย่างใด

ด้านเศรษฐกิจและการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่นั้น จากการสอบถามความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่รัศมี 1 กม.ทั้งในส่วนของผู้นำชุมชน กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ครัวเรือนในพื้นที่หมู่ที่ 9 ต.ป่าคลอก รวมไปถึงกลุ่มประมงพื้นบ้านมองว่าโครงการมารีน่าดังกล่าวจะส่งผลดีต่อประชาชน ทำให้ท้องถิ่นเจริญขึ้น ชาวบ้านมีงานทำมีรายได้มากขึ้น และชาวบ้านขอให้ทางโครงการรับคนในพื้นที่เข้าทำงานในตำแหน่งที่เหมาะสมก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมของโครงการที่ต้องการอยู่ร่วมกับชุมชน เพราะเจ้าของโครงการเป็นคนในท้องถิ่น ต้องการที่จะให้โครงการและชุมชนเกื้อกูลซึ่งกันและกัน มีการเปิดพื้นที่ทำเป็นถนนกว้าง 2 เมตร ให้ชาวบ้านและประมงพื้นบ้านใช้เป็นเส้นทางในการเดินทางไปยังท่าเรือเพื่อลงเรือออกไปทำประมง มีการก่อสร้างศาลาพักคอยให้ชาวบ้านได้ใช้ร่วมกัน เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จจะมีการรับซื้อผลผลิตของชาวบ้านมาใช้ในโครงการ ซึ่งได้มีการทำความเข้าใจกันแล้วระหว่างชาวบ้าน ประมงพื้นบ้านและโครงการ รวมไปถึงร่วมกันอนุรักษ์และส่งเสริมและรักษาป่าชายเลนในบริเวณดังกล่าวร่วมกัน

ส่วนปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งจากเรือที่ใช้บริการล่องนั้น เรือที่เข้ามาจอดในมารีน่าเป็นเรือยอชต์และเรือสปีดโบ๊ท ขนาดเล็ก ที่มีขนาดความยาวไม่เกิน 18 เมตร กำหนดความเร็วในการใช้ล่องน้ำไม่เกิน 6 น๊อต ในช่วงที่ผ่านป่าชายเลน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น ในส่วนของกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ได้แสดงความเป็นห่วงในเรื่องของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชาวบ้านและชุมชน โดยเฉพาะการทำมาหากินของประมงพื้นบ้านที่อาจจะจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเกิดโครงการดังกล่าว โดยมองว่ามีตัวอย่างให้เห็นกันอยู่แล้วจากการเกิดขึ้นของมารีน่าในภูเก็ต ที่มีการร้องเรียนปัญหากันเข้ามาแต่ไม่ได้รับการแก้ไขจากมารีน่าที่มีอยู่ จึงไม่อยากให้โครงการที่กำลังจะเกิดขึ้น มีปัญหาเหมือนกับที่ผ่านมา

ขณะที่ชาวประมงพื้นบ้านที่เข้าร่วมในวันนี้ ได้แสดงความคิดเห็นสนับสนุนการลงทุนและก่อสร้างโครงการ เนื่องจากมองว่าเป็นการสร้างความเจริญให้กับพื้นที่และชุมชน ทำให้คนในพื้นที่มีงานทำไม่ต้องออกไปทำงานนอกพื้นที่ และมีรายได้นายประพจน์ แซ่หลิม หนึ่งในเจ้าของโครงการอ่าวกุ้งมารีน่า กล่าวว่า โครงการอ่าวกุ้งมารีน่าเป็นการลงทุนโดยครอบครัวของตนเอง ซึ่งเป็นคนท้องถิ่นในพื้นที่ป่าคลอก นำที่ดินที่ก่อนหน้านี้เคยเป็นบ่อเลี้ยงกุ้งร้าง เพราะปล่อยทิ้งร้างไว้จะไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย จึงได้พูดคุยกับชาวประมงพื้นบ้านซึ่งใช้ท่าเรืออ่าวท่าเลนที่อยู่ด้านหน้าของที่ดินมาพัฒนาเป็นมารีน่าเพื่อพัฒนาพื้นที่ป่าคลอก สร้างงาน สร้างรายได้ ให้กับประชาชนในพื้นที่

โดยโครงการได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 เพื่อรับฟังข้อห่วงใยของหน่วยงานราชการและประชาชนในพื้นที่ เพื่อรวบรวมจัดทำเป็นรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้สมบูรณ์ที่สุดก่อนเสนอไปให้ สผ.พิจารณาต่อไป และยื่นขออนุญาตจากเทศบาลตำบลป่าคลอกในการก่อสร้างต่อไป

นายประพจน์ กล่าวต่อว่า อ่าวกุ้งมารีน่า เป็นการสร้างท่าเทียบเรือยอชต์ โดยขุดแอ่งจอดเรือยอชต์ในที่ดินของเอกชน เป็นท่าเทียบเรือยอช์ต รองรับเรือได้ทั้งหมด 74 ลำ เป็นเรือขนาดเล็กกินน้ำลึกไม่เกิน 2 เมตร ขนาดเรือยาวไม่เกิน 18 เมตร คาดว่าจะใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 2 ปี ใช้เงินลงทุนในเฟสแรกที่เป็นมารีน่าและคลับเฮ้าส์ ประมาณ 800 ล้านบาท และหลังจากการก่อสร้างมารีน่าแล้วเสร็จไปได้สักระยะหนึ่ง ทางโครงการมีแผนที่จะพัฒนาในเฟสที่ 2 ที่เป็นที่พักอาศัยแบบพลูวิลล่า ต่อไป

Subscribe