เปิดเวทีแนะนำโครงการรับฟังความเห็นประมงพื้นบ้าน หลังนักลงทุนเตรียมสร้างมาริน่า และโรงแรม

นักลงทุนจากส่วนกลางเตรียมทุ่มเงินทุนกว่า 1 พันล้าน ซื้อต่อสัมปทานที่ราชพัสดุแปลงท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต อ่าวมะขาม ผุดมารีน่าหรู 130 ลำ โรงแรม 70 ห้อง วางแผนเปิดปี 68 เปิดเวทีแนะนำโครงการรับฟังความเห็น ประมงพื้นบ้านหวั่นกระทบที่จอดเรือ นักวิชาการห่วงกระทบหญ้าทะเล

บริษัทมะขาม เบย์ มาริน่า จำกัด ร่วมกับบริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 ต่อร่างข้อเสนอโครงการ รายละเอียดโครงการขอบเขตการศึกษา และการประเมินทางเลือกโครงการท่าเรือสำราญและกีฬาอ่าวขาม หมู่ที่ 7 ต.วิชิต อ.เมือง จ.ภูเก็ต โดยมี นายปวีณ ปานบุญห้อม กรรมการบริหาร บริษัท มะขาม เบย์ มาริน่า จำกัด พร้อมด้วยบริษัทที่ปรึกษา ร่วมนำเสนอรายละเอียดโครงการและขอบเขตการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีตัวแทนจากหน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่มประมงพื้นบ้าน และประชาชนในพื้นที่ตำบลวิชิต เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น ณ โรงแรมเคปพันวา จ.ภูเก็ต

สำหรับโครงการท่าเรือสำราญและกีฬาอ่าวมะขาม เป็นการลงทุนโดยบริษัท มะขาม เบย์ มาริน่า จำกัด โดยการเข้ามาดำเนินการพัฒนาที่ราชพัสดุแปลงที่ ภก.308 นสล.เลขที่ 0069 หมู่ที่ 7 ต.วิชิต อ.เมือง จ.ภูเก็ต ต่อจากผู้ได้รับสัมปทานรายเดิม เป็นเวลาอีก 25 ปี โดยภายในโครงการนั้นจะประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ ท่าเทียบเรือสำราญและกีฬา (มารีน่าจอดเรือยอชต์) โรงแรม และพื้นที่เพื่อการพาณิชย์

โดยในครั้งนี้เป็นการนำเสนอรายละเอียดในส่วนของโครงการท่าเทียบเรือยอชต์ ซึ่งจะมีการดำเนินการทั้งในส่วนของพื้นที่บนบกและพื้นที่ในทะเล เป็นการก่อสร้างท่าเรือในทะเลเป็นท่าเรือแบบสามารถเคลื่อนไหวได้ สามารถรองรับเรือขนาดความยาวสูงสุด 30 เมตร กินน้ำลึก 3 เมตร จำนวน 134 ลำ โดยจะมีการขุดลอกดินจากทะเลออกประมาณ 96,000 ลูกบาศก์เมตร เพื่อให้ได้น้ำลึกเพิ่มอีก 1-2 เมตร จะทำให้เรือที่กินน้ำลึก 3 เมตร เข้าจอดได้สะดวก พร้อมทั้งบริการหลังท่าที่จะมีทั้งการบริการน้ำมัน ระบบน้ำประปาและไฟฟ้า เป็นต้น

สำหรับแผนงานโครงการจะทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมในปี 2565 นี้ คาดว่าจะแล้วเสร็จและได้รับการอนุมัติภายในปี 2566 หลังจากนั้นจะใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 2 ปี คาดว่าประมาณปี 2568 จะสามารถเปิดให้บริการได้

อย่างไรก็ตาม จากการรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐ รวมไปถึงชาวประมงพื้นบ้านและประชาชนในพื้นที่เห็นด้วยที่จะมีการเข้ามาลงทุนพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต และทำให้พื้นที่เจริญขึ้น คนมีงานทำ แต่มีหลายประเด็นที่หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงชาวประมงพื้นบ้านยังกังวล เช่น อยากจะขอความชัดเจนว่าที่ตั้งของท่าเทียบเรือยอชต์นั้นมีหญ้าทะเลอยู่หรือไม่ เพราะจากสำรวจก่อนหน้านี้พบว่ามีหญ้าทะเลอยู่ในบริเวณดังกล่าว และหากว่ามีหญ้าทะเลอยู่จริงทางโครงการจะดำเนินการอย่างไรให้กระทบหญ้าทะเลน้อยที่สุด

รวมไปถึงชาวประมงพื้นบ้านที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเกิดขึ้นของโครงการ เนื่องจากจุดที่จะเกิดโครงการมารีน่านั้น ปัจจุบันนี้ชาวประมงใช้เป็นเส้นทางในการเข้าออก และเป็นที่จอดเรือประมงพื้นบ้าน ประมาณ 30-40 ลำ และจะเพิ่มเป็น 40-50 ลำในช่วงฤดูมรสุม หากมีการลงทุนเกิดขึ้น ชาวประมงจะนำเรือไปจอดบริเวณใด ทางโครงการจะหาที่จอดเรือใหม่ให้ชาวประมงได้ที่ไหน รวมไปถึงพื้นที่บนบกที่ชาวประมงพื้นบ้านใช้ในการทำเครื่องมือประมง โรงซ่อมแซมเรือประมง เป็นต้น รวมไปถึงผลกระทบต่างๆ ที่จะตามมาระหว่างการก่อสร้างและหลังเปิดให้บริการแล้ว

โดยทางเจ้าของโครงการและบริษัทที่ปรึกษาจะนำข้อกังวลทั้งของนักวิชาการและชาวบ้านไปศึกษาและกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหา มานำเสนอในการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 ที่จะเกิดขึ้นในอีกประมาณ 3 เดือนจากนี้

ด้าน นายปวีณ ปานบุญห้อม กรรมการบริหาร บริษัท มะขาม เบย์ มาริน่า จำกัด เปิดเผยว่า ตนพร้อมด้วยหุ้นส่วนได้เข้ามาซื้อต่อสัมปทานที่พัสดุแปลงท่าเรือน้ำลึกจากผู้รับสัมปทานเดิม ที่ได้รับสัมปทานที่ราชพัสดุแปลงนี้เป็นเวลา 30 ปี แต่หลังจากที่ได้สัมปทานแล้วทางเจ้าของเดิมไม่ได้มีการลงทุนในพื้นที่และมีความประสงค์ที่จะขายพื้นที่ต่อ ทางบริษัทจึงสนใจที่จะเข้ามาลงทุนพัฒนาที่ราชพัสดุแปลงนี้ แม้ว่าจะเหลือเวลาสัมปทานอีก 25 ปี ก็ตาม เพราะทางเรามีประสบการณ์ในการทำธุรกิจเดินเรือน้ำมันมาเป็นเวลากว่า 35 ปีแล้ว และต้องการที่จะขยายธุรกิจเข้าสู่ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และการท่องเที่ยว รวมทั้งมองว่าที่ราชพัสดุแปลงนี้เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาโรงแรมและมารีน่า รวมไปถึงทางเรามั่นใจในศักยภาพของจังหวัดภูเก็ตที่เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติจากทั่วโลกและมั่นใจว่าการท่องเที่ยวของภูเก็ตจะกลับมาในเร็วๆ นี้ จึงตัดสินใจเข้ามาลงทุนที่ภูเก็ต

โดยภายในโครงการนั้นจะประกอบไปด้วยการลงทุน 3 ส่วน คือ ท่าเทียบเรือยอชต์ โรงแรม และพื้นที่เพื่อสันทนาการและพื้นที่เชิงพาณิชย์ บนเนื้อที่ประมาณ 23-24 ไร่ โดยในส่วนของท่าเทียบเรือยอชต์นั้น จะมีการลงทุนพื้นที่ในทะเลที่อยู่ติดกับที่ราชพัสดุด้วยการขุดลอกล่องน้ำให้ลึกเพิ่มอีก 1-2 เมตร เนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ เพื่อลงทุนก่อสร้างท่าเทียบเรือยอชต์ รองรับเรือขนาดความยาว 30 เมตร และกินน้ำลึก 3 เมตร ได้ 134 ลำ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการจัดทำผลกระทบสิ่งแวดล้อม และรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่ส่วนได้เสียในพื้นที่ ส่วนโรงแรมนั้นจะเป็นโรงแรมขนาดกลาง มีประมาณ 70 ห้อง โดยเราตั้งใจจะออกแบบให้ทุกห้องสามารถมองเห็นวิวทะเลได้อย่างสวยงาม รวมไปถึงในส่วนที่จะเป็นคลับเฮาส์ ร้านอาหาร พื้นที่ให้เช่า และอื่นๆ ซึ่งเราตั้งใจที่จะทำให้เป็นพื้นที่ที่จะสร้างสีสันให้มารีน่าและให้แตกต่างไปจากมารีน่าอื่นๆ ซึ่งทั้ง 3 ส่วนนี้ จะลงทุนไปพร้อมกัน โดยมูลค่าโครงการอยู่ประมาณ 1,100 ล้านบาท

Subscribe