เริ่มแล้วงาน “GI ANDAMAN MARKET สัมผัสมนต์เสน่ห์สินค้าอันดามัน”

เริ่มแล้วงาน “GI ANDAMAN MARKET สัมผัสมนต์เสน่ห์สินค้าอันดามัน” ภายใต้โครงการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ชุมชน สัมผัสมนต์เสน่ห์สินค้าอันดามัน ด้วยสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication : GI)

ที่ บริเวณลานโปรโมชั่น ชั้น 1 ศูนย์การค้าโรบินสัน ไลฟ์สไตล์ ถลาง จ.ภูเก็ต นายภูวนัฐ สมใจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นประธานเปิดงาน “GI ANDAMAN MARKET สัมผัสมนต์เสน่ห์สินค้าอันดามัน” ภายใต้โครงการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ชุมชน สัมผัสมนต์เสน่ห์สินค้าอันดามัน ด้วยสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication : GI) ซึ่งทางสำนักงานพาณิชย์จังหวัดตรัง ร่วมกับพาณิชย์จังหวัดฝั่งอันดามันจัดขึ้น โดยนางสาวสุภากิตติ์ เกลี้ยงสงค์ พาณิชย์จังหวัดตรัง, พาณิชย์จังหวัดภูเก็ต, พาณิชย์จังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน, นายจักรภพ ปิยรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโสฝ่ายปฏิบัติการ ผู้บริหารศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์ ถลาง สื่อมวลชน และแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วม

นางสาวสุภากิตติ์ เกลี้ยงสงค์ พาณิชย์จังหวัดตรัง กล่าวว่า กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ได้จัดสรรงบประมาณตามแผนปฏิบัติราชการของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดตรัง ดำเนินโครงการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ชุมชนด้วยสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication : GI) ประกอบด้วย 3 กิจกรรม คือ กิจกรรมที่ 1 : อบรมเชิงปฏิบัติการด้านการบริหารจัดการและทำการตลาดสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ จัดกิจกรรมเมื่อช่วงเดือนมกราคม 2565 ณ จังหวัดตรัง เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านทรัพย์สินทางปัญญาและความสำคัญของสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ และรับฟังประสบการณ์จากผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จจากการใช้สิ่งบ่งชี้ ทางภูมิศาสตร์ในเชิงพาณิชย์ กิจกรรมที่ 2 : ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์สินค้ากลุ่มจังหวัด ภาคใต้ฝั่งอันดามัน 6 สินค้า (จังหวัดตรัง : ข้าวเบายอดม่วงตรัง / จังหวัดสตูล : กระท้อนนาปริกสตูล /จังหวัดกระบี่ : ทุเรียนทะเลหอย จังหวัดพังงา : มังคุดทิพย์พังงา/จังหวัดภูเก็ต : ส้มควายภูเก็ต / จังหวัดระนอง : กาแฟระนอง)

และกิจกรรมที่ 3 : เป็นการจัดงานแสดงและจำหน่ายสินค้าภายใต้ชื่องาน ANDAMAN MARKET สัมผัสมนต์เสน่ห์สินค้าอันดามัน” กำหนดจัด 2 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 จัดเสร็จสิ้นไปแล้ว เมื่อวันที่ 27 – 31 กรกฎาคม 2565 ณ ลานกิจกรรม ชั้น G ศูนย์การค้า ฟิวเจอร์พาร์ครังสิต จังหวัดปทุมธานี ซึ่งได้รับผลตอบรับจากประชาชนทั่วไปมาเลือกชมและช้อปสินค้าเป็นอย่างมาก โดยมูลค่าการจำหน่ายรวม 3,333,950 บาท สินค้าที่มีมูลค่าสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ เครื่องประดับมุก อาหารทะเลแปรรูป ผ้าบาติก ขนมเปี๊ยะ และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสับปะรด และมูลค่าการสั่งซื้อจากการเจรจาธุรกิจการค้าที่เกิดขึ้นทันที 100,090 บาท และมูลค่าที่คาดว่าจะเกิดขึ้นภายใน 1 ปี 2,430,000 บาท ซึ่งสินค้าที่ได้รับความสนใจ ได้แก่ พริกไทยตรัง เครื่องประดับมุก ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสับปะรดภูเก็ต (แครกเกอร์ชีสสับปะรด) เค้กจำปาดะ และอาหารทะเลแปรรูป

สำหรับการจัดกิจกรรมครั้งนี้ เป็นการครั้งที่ 2 จัดระหว่างวันที่ 25-30 สิงหาคม 2565 ณ บริเวณลานโปรโมชั่น ชั้น 1 และ 2 ศูนย์การค้าโรบินสัน ไลฟ์สไตล์ ถลาง อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เพื่อประชาสัมพันธ์สินค้า สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์(สินค้า GI) และผลิตภัณฑ์เด่นที่มีคุณภาพจากจังหวัดภาคใต้ ฝั่งอันดามัน (ตรัง สตูล กระบี่ พังงา ภูเก็ต ระนอง) ให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง เพิ่มช่องทางการตลาด สร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกร ผู้ผลิตผู้ประกอบการ โดยสำนักงานพาณิชย์จังหวัดตรัง ได้บูรณาการร่วมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันอีก 5 จังหวัด คัดสรรสุดยอดสินค้า GI ภาคใต้ฝั่งอันดามัน 6 จังหวัด และสินค้าชุมชนเด่น กว่า 47 ร้านค้า จากผู้ประกอบการ GI อาทิ หมูย่างเมืองตรัง พริกไทยตรัง สับปะรดภูเก็ต มุกภูเก็ต ข้าวไร่ดอกข่าพังงา กาแฟเมืองกระบี่ จำปาดะสตูล รวมทั้งสินค้าเด่นของจังหวัด อาทิ ข้าวเบายอดม่วงตรัง ขนมเปี๊ยะ ขนมเค้ก ซาลาเปาทับหลี กะปิ อาหารทะเลแปรรูป ผ้าทอนาหมื่นศรี ผ้าปาเต๊ะ และสินค้าอื่นๆ อีกมากมาย นอกจากนี้ภายในงานมีกิจกรรมอื่นๆ อาทิ กิจกรรม workshop เมนูเด็ดจากสินค้า GI โดยเชฟชื่อดัง, กิจกรรมไลฟ์สดประชาสัมพันธ์สินค้า, กิจกรรมจับคู่ธุรกิจการค้า,
กิจกรรมส่งเสริมการขาย ช้อปลุ้นรับของรางวัลทุกวัน พร้อมการแสดงมินิคอนเสิร์ตจากศิลปินดารา และกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย

ขณะที่ นายภูวนัฐ สมใจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายให้ความสำคัญกับการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร โดยส่งเสริมให้มีการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications : GI) ให้กับสินค้าที่มีชื่อเสียงเชื่อมโยงกับแหล่งภูมิศาสตร์ของพื้นที่นั่นๆ มีคุณภาพ และแตกต่างเป็นเอกลักษณ์จากพื้นที่อื่น เพื่อสร้างการเจริญเติบโตจากภายในประเทศ สร้างชุมชนให้เข้มแข็ง มีความสามารถในการแข่งขัน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าชุมชนอย่างยั่งยืน

“จังหวัดตรังและจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการสร้างชุมชนให้มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ และให้ความสำคัญกับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เพื่อต่อยอดศักยภาพของกลุ่มจังหวัดที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางด้านสภาพภูมิศาสตร์ที่ส่งผลให้เกิดสินค้าเกษตรที่มีลักษณะเฉพาะถิ่น ตลอดจนความมีชื่อเสียงเป็นเอกลักษณ์จากแหล่งกำเนิด ซึ่งจะเป็นเครื่องมือในการคุ้มครองชื่อสินค้าซึ่งเป็นสิทธิเฉพาะของชุมชนที่ขึ้นทะเบียน สามารถนำมาใช้เพื่อเป็นเครื่องมือทางการตลาด สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์ได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อันจะสร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการ ตลอดจนจะช่วยฟื้นฟูศักยภาพทางเศรษฐกิจด้วย”นายภูวนัฐกล่าวในที่สุด

Subscribe