แนวโน้มป่วยโควิดในภูเก็ตยังสูง ปฏิเสธ เสนอตัวเป็นจังหวัดนำร่อง

แนวโน้มป่วยโควิดในภูเก็ตยังสูง ปฏิเสธ เสนอตัวเป็นจังหวัดนำร่อง “ประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น” แต่เสนอ ศบค. ลดจำนวนวันรักษา ผู้ติดเชื้อเหลือ 5 วัน ขณะยอดป่วยพุ่งกว่า 1,000 คนต่อวัน

นายแพทย์กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดในพื้นที่ จ.ภูเก็ต ว่า ขณะนี้ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตมีผู้ติดเชื้อเพิ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดวันที่ 20 ก.พ. มีผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่, ผู้ป่วยตรวจ ATK ผลเป็นบวก, นักท่องเที่ยวที่ดินทางมาตามโครงการ ภูเก็ต แซนด์ บ็อกซ์ นักท่องเที่ยวที่เข้ามาตามระบบ Test & Go รวม 1,073 ราย เสียชีวิต 3 ราย และ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงปลายเดือนนี้ แต่อย่างก็ตามในด้านการแพทย์ทางจังหวัดยังคงรับมือได้ เนื่องจากผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ และส่วนใหญ่รักษาตัวที่บ้าน โดยขณะนี้มีผู้ป่วยที่กักตัวอยู่ที่บ้านประมาณ 7,400 คน ทยอยรักษาหายวันละ 700 – 800 คน

ส่วนปัญหาความล่าช้าในการเข้ารับการรักษาทางจังหวัดได้กำหนดมาตรการในการดำเนินการ โดยให้คนที่ตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด สามารถติดต่อไปยังโรงพยาบาลรัฐทั้ง 4 แห่ง รวมทั้งคลินิกอุ่นใจ และโรงพยาบาล รพ.สต. และ จองคิวออนไลน์ เพื่อเตรียมความพร้อมทรัพยากร ทั้งด้านเตียง ยาและเวชภัณฑ์ รองรับ โดยให้เน้นการจัดระบบการรักษาที่บ้านหรือชุมชน (Home Isolation : HI / Community Isolation : CI) เนื่องจากผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสีเขียวที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย พร้อมมีระบบติดตามอาการ และสื่อสารเพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้ติดเชื้อและครอบครัว ทั้งนี้ เพื่อให้โรงพยาบาลสามารถรองรับการรักษาผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและแดง รวมถึงให้บริการผู้ป่วยอื่นๆ ได้ตามปกติ

นอกจากนี้ ทางจังหวัดยังเร่งบริการฉีดวัคซีนเชิงรุกในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีนมากที่สุด และ เน้นปฏิบัติตามมาตรการ VUCA คือ V เร่งฉีดวัคซีน U ป้องกันตนเองครอบจักรวาล รักษาระยะห่าง ล้างมือ ใส่หน้ากาก พยายามอยู่ในที่โล่ง C สถานประกอบการปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting และ A ตรวจ ATK เป็นประจำ หากพบการติดเชื้อให้ ติดต่อรพ. สตในพื้นที่หรือคลินิกอุ่นใจ เพื่อขอคำแนะนำ โดยจะเน้นให้ผู้ที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อยดูแลที่บ้าน มีการจัดยาและเวชภัณฑ์ให้ และ ติดต่อระบบการแพทย์และสาธารณสุขได้ตลอดเวลา หากมีอาการมากขึ้น จะมีระบบส่งต่อโรงพยาบาลอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ หากทุกฝ่ายและประชาชนร่วมมือกัน เชื่อว่าจะสามารถชะลอการระบาดครั้งนี้และสามารถขับเคลื่อนภูเก็ตต่อไปได้

ในส่วนของข้อมูลศักยภาพด้านสาธารณสุข ของจังหวัดภูเก็ต มีการใช้ยา Favipiravir ซึ่งจะมีการให้ยาดังกล่าวแก่ผู้ที่มีอาการตามดุลยพินิจของแพทย์ โดยขณะนี้จังหวัดภูเก็ต มี ผู้ป่วยสีเขียว ครองเตียง1,601 ราย(มีเตียงสีเขียว 2,774 เตียง ) ผู้ป่วยสีเหลืองครองเตียง498 ราย(มีเตียงสีเหลือง 730 เตียง ) ผู้ป่วยสีแดงครองเตียง 15 ราย(มีเตียงสีแดง 45 เตียง ) โดยขณะนี้มีผู้ป่วยสีเขียวรักษาตัวที่บ้าน( Home Isolation) จำนวนประมาณ 7,400 ราย

โดยที่ประชุมได้มีการหารือกำหนด มาตรการแก้ไขปัญหาของจังหวัดภูเก็ตดังนี้ มาตรการในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1. เฝ้าระวังและตรวจคัดกรองโควิด-19 เมื่อเข้าจังหวัด ระหว่างพำนัก ก่อนกลับประเทศ 2. จัดให้มี Hotel Isolation โดย MOU กับ โรงพยาบาล 3. กำหนดให้โรงแรมมี Hotel Room Isolation ร้อยละ 5 ของจำนวนห้องพัก โดย MOUกับ โรงพยาบาลเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อซึ่งเข้าพักในโรงแรม

ส่วน มาตรการในกลุ่มคนไทย 1. เปิดคลินิกอุ่นใจ ณ ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต เพื่อเป็นศูนย์ประเมินอาการ คัดแยกกลุ่มผู้ติดเชื้อลงทะเบียน Home Isolation และจ่ายยา favipiravir สำหรับกลุ่ม 607 2. ขยายบริการใน รพ.สต. มีการลงทะเบียน Home Isolation และจ่ายยา Favipiravir สำหรับกลุ่ม 607 3. จัดทำ Platform Phuket Organizations COVID care (POCC) เพื่อการบริหารจัดการ Home Isolation

นอกจากนี้ที่ประชุม ได้ร่วมหารือสรุปข้อเสนอของจังหวัดภูเก็ตเพื่อส่งข้อมูลเสนอ ศบค. ดังนี้ 1. ลดระยะเวลาการแยกกักผู้ติดเชื้อ จาก 10 วัน เป็นแยกกักตัว 5 วัน และ อีก 5 วัน สามารถกลับไปปฏิบัติงานได้ตามปกติ แต่ให้ปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention 2. ปรับการรายงานผู้ติดเชื้อรายวัน โดยให้รายงานเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการปานกลาง (สีเหลือง) อาการรุนแรง (สีแดง) และผู้ป่วยเสียชีวิต 3. กรณี คนไทยที่เดินทางกลับมาจากต่างจังหวัดคณะใหญ่ๆ แลมีการตรวจพบว่าติดเชื้อโควิดผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการเกิด 50 % ขอให้ส่งกลับตามจังหวัดที่เดินทางมา เพราะจังหวัดภูเก็ตเป็นเมืองหน้าด่านที่มีการรักคนมาจากที่ต่างๆจำนวนมาก ทรัพยากรทางด้านสาธารณสุขที่มีอยู่ขณะนี้มีจำนวนจำกัด

ส่วนกรณีการเสนอให้จังหวัดภูเก็ต เป็นจังหวัดนำร่องในการประกาศให้โรคโควิด -19 เป็นโรคประจำถิ่น ในส่วนของจังหวัดภูเก็ต นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ยังไม่ได้มีการเสนอเรื่องนี้แต่อย่างใด ซึ่งตนก็ไม่ทราบว่ามีการสื่อเรื่องนี้ออกไปได้อย่างไร ในการประชุมวันนี้ไม่มีการเสนอเรื่องนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีการพูดคุยกัน แต่มองว่าขณะนี้ยังไม่สามารถที่จะประกาศให้เป็นพื้นที่นำร่องได้เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น อัตราการเสียชีวิตก็ยังเกินจากมาตรการที่วางไว้ แม้จะมีผู้เสียชีวิตน้อยแต่ยังเกิน 0.1 % อยู่ จนถึงขณะนี้ขอยืนยันว่าจังหวัดภูเก็ตยังไม่ได้เสนอตัวเป็นพื้นที่นำร่อง ในการประกาศให้โรคโควิด -19 เป็นโรคประจำถิ่น แต่อย่างใด

Subscribe