มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ลงนาม MOU ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เพื่อบูรณาการเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ เสริมศักยภาพงานวิจัยดร.มานพ ชาชิโย รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา พร้อมด้วย ผศ.รังสรรค์ พลสมัคร คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อาจารย์กิตติศักดิ์ จิตต์เกื้อ รองคณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และผู้จัดการคลินิกเทคโนโลยี และ อาจารย์ ดร.อนิตยา กังเเฮ รองผู้จัดการคลินิกเทคโนโลยี ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การบูรณาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านงานวิจัยพัฒนานวัตกรรมและการใช้ประโยชน์” ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สทน.)และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ที่ห้องแถลงข่าว อาคารพระจอมเกล้า ชั้น 1 สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้เป็นการบูรณาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านงานวิจัย พัฒนานวัตกรรมและการใช้ประโยชน์ ในการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์อาหารพื้นถิ่นที่สอดคล้องกับบริบทชุมชนซึ่งเป็นงานวิจัยและนวัตกรรมที่เป็นตัวขับเคลื่อนให้ผลิตภัณฑ์จากผู้ประกอบการภาคใต้เกิดประโยชน์สูงสุดจากการใช้รังสีเพื่อความปลอดภัยต่อการบริโภคและได้คุณภาพมาตรฐานยิ่งขึ้น อันจะส่งผลต่อการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการและชุมชนต่อไป ทั้งนี้เป็นการดำเนินงานภายใต้ปรัชญาของมหาวิทยาลัย ที่เป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นบนพื้นฐานความรับผิดชอบต่อสังคม และวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัย “มหาวิทยาลัยชั้นนำ ด้านการจัดการองค์ความรู้และนวัตกรรมสู่การพัฒนาท้องถิ่น” อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนั้น คณะของมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ยังเข้าร่วมหารือกับ กรมวิทยาศาสตร์บริการ เพื่อสนับสนุนการศึกษาวิจัย พัฒนาวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ชุมชนและการต่อยอดผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร ทั้งนี้ การดำเนินงานภายใต้กรอบความร่วมมือ ประกอบไปด้วย การจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารโดยใช้ศาสตร์การปรุงอาหารแนวใหม่ : Molecular Gastronomy” , ตามรอยโอ้เอ๋ว และการป้องกันการเกิดเชื้อราในผลิตภัณฑ์จักสาน จากทางปาล์ม ตามแผนการพัฒนาวัตถุดิบและต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชนในพื้นที่ พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริม สนับสนุนให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับ ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศต่อไป