ประชุมหาแนวทางการแก้ปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดินป่าสงวนแห่งชาติป่าบางขนุน

ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 ประชุมหาแนวทางการแก้ปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดินป่าสงวนแห่งชาติป่าบางขนุน เพื่อให้ประชาชนที่เข้าใช้ที่ดินอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

ที่ ห้องประชุมกองบัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 อ.เมือง จ.ภูเก็ต พลเรือโทอาภากร อยู่คงแก้ว ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 เป็นประธานการประชุมพิจารณาแนวทางการแก้ปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดินป่าสงวนแห่งชาติป่าบางขนุน หลังจากที่กองทัพเรือ โดยทัพเรือภาคที่ 3 ได้รับอนุญาตให้เข้าใช้ประโยชน์ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าบางขนุน ในพื้นที่ ต.เทพกระษัตรี และ ต.สาคู อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เพื่อตั้งเป็นศูนย์ต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่งประจำพื้นที่ 2 และกองพันสารวัตรทหารเรือที่ 4 เนื้อที่ 3,763 ไร่เศษ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2566 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2569 เพื่อร่วมกันพิจารณาหารือและกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดินป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าว โดยมีหน่วยงานและผู้เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 12 สาขากระบี่, ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กอ.รมน.จ.ภูเก็ต รวมทั้งผู้แทนฝ่ายปกครองท้องที่ อาทิ อำเภอถลาง, อบต.สาคู, อบต.เทพกระษัตรี, กำนันผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ เป็นต้น เข้าร่วม

พลเรือโทอาภากร อยู่คงแก้ว ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 กล่าวในที่ประชุมว่า จากการสำรวจพื้นที่ที่ได้รับมอบหมายจากกรมป่าไม้ พบว่ายังมีการเข้าไปใช้ประโยชน์ของประชาชน เพื่อทำเกษตรและสร้างที่พักอาศัยจำนวนมาก บางส่วนมีการบุกรุกในพื้นที่ป่าโซนซี ซึ่งเป็น ป่าต้นน้ำด้วย ซึ่งพื้นที่บางส่วนกองทัพเรือมีความจำเป็นเร่งด่วนในการเข้าใช้ประโยชน์ในระยะเวลาอันใกล้ จึงจำเป็นที่ต้องหารือร่วมกัน เพื่อวางแนวทางในการดำเนิน และให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

อย่างไรก็ตาม นป.สอ.รฝ.591 ได้มีการรายงานภาพรวมการใช้ประโยชน์พื้นที่ของราษฎร จากข้อมูลการใช้ประโยชน์ของราษฎรในพื้นที่ตามคำสั่งจังหวัดภูเก็ต เมื่อเดือนธันวาคม 2541 ให้สำรวจการถือครองที่ดินของชาวบ้านในสวนป่าบางขนุน ซึ่งแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2542 พบว่า มีราษฎรเข้าทำประโยชน์ 265 ราย จำนวน 310 แปลง เนื้อที่รวม 2,698 ไร่เศษ มีพื้นที่ที่ชาวบ้านปลูกสร้างที่พักอาศัยอยู่ประจำ จำนวน 25 หลัง สิ่งปลูกสร้างถาวรที่ไม่มีผู้อยู่อาศัย จำนวน 23 หลัง และสิ่งปลูกสร้างชั่วคราว 22 หลัง นอกจากนี้จากการลงพื้นที่เมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา อ้างอิงข้อมูลจากกรมป่าไม้ในปี 2541 ของทาง พัน.สอ. 22 จะใช้พื้นที่ 238 ไร่เศษจากพื้นที่ทั้งหมด แต่ในระยะเร่งด่วนจะใช้เพียงครึ่งเดียว พบว่า เบื้องต้นมีชาวบ้านจะได้รับผลกระทบในระยะเร่งด่วน 22 ราย และจากการลงพื้นที่ พบชาวบ้านที่มีตัวตนตามรายชื่อ เพียง 5 ราย ที่มาปรากฎตัวแล้ว และมีพบเพิ่มเติม 7 ราย แต่ไม่มีรายชื่อในฐานข้อมูลเดิม อาจด้วยๆ หลายเหตุผล เช่น ตกสำรวจ เปลี่ยนมือการถือครอง เป้นต้น ซึ่งจะมีการแยกแยะอีกครั้ง โดยนำเอกสารยืนยันการครอบครอง

หลังจากที่มีการนำเสนอข้อมูลของหน่วยต่างๆที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งทางผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกำนันผ็ใหญ่บ้านเรียบร้อยแล้ว ที่ประชุมมีมติร่วมกันว่า ขอให้ผู้นำชุมชนช่วยประชาสัมพันธ์และชี้แจงทำความเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อให้นำเอกสารหลักฐานต่างๆ ในการเข้าครอบครองที่ดิน ยื่นให้กับศูนย์ตรวจสอบข้อมูลทัพเรือภาค 3 เพื่อรับทราบข้อมูลข้อเท็จจริงของราษฎรในการเข้าครอบครองที่ดินให้ราษฎร ภายในวันที่ 7 มิถุนายน 2566 นี้ ที่, หลังจากนั้นประมาณปลายเดือนมิถุนายน 2566 ทางทัพเรือภาคที่ 3 จะทำแนวรั้วเพื่อแสดงแนวเขตโดยรอบพื้นที่, จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการฯ ร่วมระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ผู้นำชุมชน เพื่อพิจารณาการผ่อนปรนการใช้ประโยช์ในพื้นที่และเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง ขะมีการจัดกิจกรรมรวมกันระหว่างกองทัพเรือกับชาวบ้านในพื้นที่

พลเรือโทอาภากร อยู่คงแก้ว ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 กล่าวภายหลังการประชุมว่า การเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้นำชุมชนในพื้นที่โดยรอบสวนป่าบางขนุนมารับทราบแนวทางของกองทัพเรือในการเข้าใช้พื้นที่สวนป่าบางขนุน หลังจากได้รับมอบจากกรมป่าไม้เนื่องที่ประมาณ 3,700 ไร่เศษ เพื่อให้ประชาชนที่เข้าใช้ที่ดินอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวได้รับผลกระทบน้อยที่สุด โดยจะใช้พื้นที่ประมาณ 500 ไร่ในการจัดตั้งศูนย์ต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่งประจำพื้นที่ 2 และกองพันสารวัตรทหารเรือที่ 4 ส่วนพื้นที่ที่เหลือจะต้องทำการอนุรักษ์พื้นที่ป่า แม้ว่าหากพูดตามกฎหมายแล้ว ในส่วนของประชาชนที่เข้าไปอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวไม่ได้มีสิทธิตามกฎหมายในพื้นที่ดังกล่าว แต่การดำเนินการของทัพเรือนั้นจะไม่ให้กระทบกับชาวบ้านที่เข้าไปเก็บพืชผลอาสิน เพียงแต่จะต้องไม่ไปปลูกหรือแผ้วถางเพิ่มเติมจากที่มีอยู่ ส่วนกรณีที่มีการบุกรุกใหม่นั้นจะมีการดำเนินการตามกระบวนการของกฎหมาย

Subscribe