กรมพัฒนาที่ดินจัดการประชุมวิชาการปี 2565

กรมพัฒนาที่ดินจัดการประชุมวิชาการปี 2565 60 ปี กรมพัฒนาที่ดินการเปลี่ยนแปลงในทศวรรษหน้าสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน”

ที่ ห้องภูเก็ตแกรนด์ บอลรูม โรงแรมรอยัล ภูเก็ต ซีตี้ จังหวัดภูเก็ต นายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมการประชุมวิชาการกรมพัฒนาที่ดิน ประจำปี 2565 ซึ่งจัดโดยกรมพัฒนาที่ดิน โดยมีนางสาวเบญจพร ชาครานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการกรมพัฒนาที่ดิน ประจำปี 2565 ระหว่างวันที่ 21-22 สิงหาคม 2565 ที่ จังหวัดภูเก็ต โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย อธิบดี รองอธิบดี ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการกอง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต ผู้เชี่ยวชาญ ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดิน คณะอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการวิจัยกรมพัฒนาที่ดินและคณะทำงานจัดประชุมวิชาการกรมพัฒนาที่ดิน ปี 2565 นักวิชาการ ของกรมพัฒนาที่ดิน ผู้สนใจและผู้เกี่ยวข้อง จำนวน 670 คน เข้าร่วม

นายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ต มีความยินดีที่ได้รับเกียรติจากกรมพัฒนาที่ดินที่เลือกจังหวัดภูเก็ตในการจัดประชุมวิชาการกรมพัฒนาที่ดิน ประจำปี 2565 ระหว่างวันที่ 21-22 สิงหาคม 2565 จังหวัดภูเก็ตได้ชื่อว่าเป็น “ไข่มุกแห่งอันดามัน” เป็นจังหวัดเดียวของประเทศไทยที่มีสภาพพื้นที่เป็นเกาะตั้งอยู่ในทะเลอันดามัน ด้วยลักษณะภูมิประเทศที่งดงาม เอกลักษณ์ และวัฒนธรรมที่โดดเด่น ภูเก็ตจึงเป็นจุดหมายหลักที่สำคัญสำหรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ในช่วงสถานการณ์โควิด 19 ที่ผ่าน จังหวัดภูเก็ตได้รับผลกระทบแต่ได้ดำเนินการ Phuket Sandbox ในระยะเวลา 8 เดือนมีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวกว่า 5 แสนคนสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นมากกว่า 60,000 ล้านบาท แม้ว่าจังหวัดภูเก็ตจะมีบทบาทสำคัญเป็นเมืองท่องเที่ยวแต่ภาคการเกษตรก็เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาจังหวัดภูเก็ต มีพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจ 88,000 ไร่ อำเภอถลางมีพื้นที่มากที่สุด พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ไม้ผล และสับปะรดภูเก็ต ถือเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ มีลักษณะเฉพาะ คือ หวาน หอม กรอบ และสามารถรับประทานส่วนของแกนได้ สับปะรดภูเก็ตได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 สร้างรายได้ให้แก่จังหวัดปีละไม่ต่ำกว่า 80 ล้านบาท

และขณะนี้จังหวัดภูเก็ตกำลังดำเนินการผลักดันให้ส้มควายซึ่งเป็นพืชอัตลักษณ์ของจังหวัดได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์อีกพืชหนึ่งจังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดที่ยังมีศักยภาพในการพัฒนาด้านการเกษตรได้อีกมาก ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมการเกษตร เพื่อเพิ่มความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน ตลอดจนการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ผลผลิตทางการเกษตร การเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงอาหารปลอดภัยทั้งในระดับท้องถิ่นและนานาชาติ รวมทั้งการปรับและพัฒนาวัฒนธรรมเกษตรของจังหวัดให้มีความเหมาะสมภายใต้การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดความสมดุลยั่งยืน

นางสาวเบญจพร ชาครานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า การจัดประชุมวิชาการกรมพัฒนาที่ดินขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อตอบสนองนโยบายการดำเนินงานวิจัยของกรมพัฒนาที่ดิน ให้ได้เทคโนโลยีการจัดการทรัพยากรดิน น้ำ และพืช รวมทั้งเทคโนโลยีชีวภาพทางดิน ในการเพิ่มผลิตภาพของดิน ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตพืช ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และได้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ ที่มีความคุ้มค่าสูงที่สุด โดยมีการนำเสนอผลสำเร็จงานวิชาการของกรมพัฒนาที่ดิน ครอบคลุมทุกสาขาวิชาการที่เกี่ยวข้องทั้งสิ้น 9 เป้าหมายการพัฒนา ซึ่งถือเป็นภารกิจที่สำคัญของกรมพัฒนาที่ดิน ในอดีตที่ผ่านมาผลงานวิชาการ และองค์ความรู้ของกรมพัฒนาที่ดิน ที่นำไปถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสมให้เกษตรกรเกิดการเรียนรู้ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ได้รับการยอมรับจากเกษตรกรในพื้นที่ และเกษตรกรสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างยั่งยืน การทำงานวิชาการในยุคปัจจุบันของนักวิชาการกรมฯ ต้องมีความรู้ทางวิชาการที่ดี และมีความทันสมัยติดตามนโยบายรวมทั้งเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภารกิจกรมพัฒนาที่ดิน ให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ โดยต้องมีความสอดคล้องเชื่อมโยงระหว่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ยุทธศาสตร์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แผนปฏิบัติราชการกรมฯ และแผนปฏิบัติการวิจัยและนวัตกรรมกรมฯ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนางานวิชาการมีการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ของกรมฯ ที่เกิดจากงานวิจัยในการดำเนินงานโครงการที่สำคัญของกรมฯ เช่น โครงการการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมในการปลูกข้าวเพื่อผลิตสินค้าเกษตรอื่นที่เหมาะสม การปรับเปลี่ยนการผลิตเป็นรูปแบบเกษตรอินทรีย์ที่ปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

นอกจากการพัฒนางานวิชาการแล้ว การพัฒนานักวิชาการ ซึ่งเป็นบุคลากรที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งของกรมพัฒนาที่ดิน ให้เป็น smart officer ก็เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ นักวิชาการต้องมีความรู้ดี รู้จริง รู้สึก และรู้คิด ร่วมกันเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนงานตามภารกิจให้มีความก้าวหน้าประสบความสำเร็จและบรรลุเป้าหมายตามวัตถุประสงค์

 

Subscribe