ประเมินประสิทธิผลของสิทธิประโยชน์ประกันสังคมกรณีชราภาพ

สำนักศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมกับสำนักงานประกันสังคมจัดโครงการวิจัยเรื่อง “ประเมินประสิทธิผลของสิทธิประโยชน์ประกันสังคมกรณีชราภาพ”

ณ โรงแรมรอยัลภูเก็ตซิตี้ นายไมตรี ขุนทอง ประกันสังคมจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการและการประชุมกลุ่มย่อยโครงการวิจัยเรื่อง “ประเมินประสิทธิผลของสิทธิประโยชน์ประกันสังคมกรณีชราภาพ” โดยมี ผศ. ดร. เสาวธาร โพธิ์กลัด คณะผู้วิจัย และประชาชนเข้าร่วม

ผศ.ดร.เสาวธาร กล่าวว่า ด้วยสำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมกับสำนักงานประกันสังคม ดำเนินโครงกรวิจัยเรื่อง “การประเมินประสิทธิผลของสิทธิประโยชน์ประกันสังคมกรณีชราภาพ” โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์เป็นหัวหน้าโครงการ ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อนำเสนอผลการศึกษาและประชุมกลุ่มย่อยครั้งนี้ขึ้น เพื่อนำเสนอผลการศึกษาผลของโครงการวิจัย และรับฟังความคิดเห็นในประเด็นที่สำคัญและมีประโยชน์ต่อการพัฒนาปรับปรุงสิทธิประโยชน์ประกันสังคมกรณีชราภาพให้เหมาะสมนับตั้งแต่มีการให้สิทธิประโยชน์กรณีชราภาพทั้งกรณีบำเหน็จ และบำนาญ แก่ผู้ประกันตนที่มีอายุครบ 55 ปี

สำนักงานประกันสังคมได้ดำเนินการให้ความคุ้มครองและจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพไปแล้วทั้งสิ้น 114,193 ล้านบาท แต่ยังไม่เคยมีการศึกษาและเก็บข้อมูลโดยตรงจากผู้สูงอายุที่รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพของสำนักงานประกันสังคมมาก่อน ดังนั้นคณะผู้วิจัยจึงดำเนินโครงการวิจัยเรื่อง “การประเมินประสิทธิผลของสิทธิประโยชน์ประกันสังคมกรณีชราภาพ” ภายใต้วัตถุประสงค์การวิจัย 4 ประการ คือ เพื่อประเมินผลลัพธ์และผลกระทบของสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพที่มีต่อผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ เพื่อศึกษาความต้องการในการรับรู้ถึงประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ รวมถึงความต้องการของผู้มีสิทธิรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพของกองทุนประกันสังคม และข้อเสนอแนะรูปแบบการสื่อสารต่อกลุ่มเป้าหมายอีกทั้งเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเสนอแนะในการพัฒนารูปแบบสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยมีความเพียงพอต่อการดำรงชีพของผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพของกองทุนประกันสังคม และ เพื่อให้ได้มาซึ่งเครื่องมือหรือตัวแบบทางวิชาการ

สำหรับการประเมินผลลัพธ์และผลกระทบของสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพของสำนักงานประกันสังคม โดยมีการดำเนินโครงการมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ.2564 ตั้งแต่การศึกษาทบทวนทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง จัดทำแบบสอบถามและจัดเก็บข้อมูลในกลุ่มตัวอย่าง 4 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 ผู้ได้รับบำเหน็จ และบำนาญจากกองทุนประกันสังคม กระจายใน 5 ภูมิภาค 12 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 3,780 ตัวอย่างจากนั้นวิเคราะห์ข้อมูลตามหลักวิชาการ โดยผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่า กลุ่มตัวอย่างผู้ประกันตน มาตรา 33 และ 39 เพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่มีความรู้เกี่ยวกับประกันสังคมและส่วนใหญ่วางแผนจะใช้เงินทดแทนกรณีชราภาพเป็นรายได้หลัก

ส่วนผู้ที่ได้รับบำเหน็จบำนาญแล้ว 5 ปีย้อนหลัง เกือบทั้งหมดที่ใช้เงินทดแทนกรณีชราภาพเต็มจำนวนโดยที่ไม่มีการลงทุนต่อยอด นอกจากนี้ประเด็นที่จะขอความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่านเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ประกันสังคมกรณีชราภาพ ทั้งเรื่องจำนวนเงินและระยะเวลาที่ส่งเงินเข้ากองทุน ความพอเพียงและความคุ้มค่าของเงินบำเหน็จบำนาญที่ได้รับ และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ความรู้ความเข้าใจในการคำนวณเงินบำเหน็จบำนาญ

นอกจากงานประชุมแล้ว ยังมีการจัดประชุมในอีก 4 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคกลาง ในจังหวัดนนทบุรี ภาคเหนือ ในจังหวัดเชียงใหม่ ภาคตะวันออก ในจังหวัดชลบุรีและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในจังหวัดขอนแก่น โดยการจัดประชุมในวันนี้เป็นเวทีรับฟังความคิดเห็นเวทีสุดท้าย

Subscribe