ภูเก็ต วาง 3 แนวทาง พิชิตโควิด ส่งทีม CCRT ค้นหาผู้ติดเชื้อทั้งเกาะ

ภูเก็ต วาง 3 แนวทาง พิชิตโควิด ส่งทีม CCRT ค้นหาผู้ติดเชื้อทั้งเกาะ เปิดคลินิก “อุ่นใจ” ควบคุมไม่ให้เกิดคลัสเตอร์ใหญ่

สาธารณสุขวาง 3 แนวทาง พิชิตโควิดในภูเก็ตให้ได้ภายในปลายเดือน ก.ย.นี้ ตั้งทีมปฏิบัติการโควิดเคลื่อนที่เร็ว หรือ CCRT ลงพื้นที่ค้นหาผู้ติดเชื้อในชุมชนทั่วทั้งเกาะ เปิด “คลินิกอุ่นใจ”รักษาและให้คำปรึกษาปัญหาโควิด และส่งทีมควบคุมไม่ให้เกิดคลัสเตอร์ใหญ่ขึ้นอีก

นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วย นายแพทย์พิทักษ์พล บุญยมาลิก ผู้ตรวจราชการเขตที่ 11 กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต นายแพทย์เฉลิมพงษ์ สุคนธผล ผอ.โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ร่วมกันแถลงข่าว แผนการจัดการ โควิด-19 ทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ณ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตนายแพทย์พิทักษ์พล บุญยมาลิก ผู้ตรวจราชการเขตที่ 11 กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ภูเก็ตขณะนี้ เป็นการแพร่ระบาดที่รวดเร็วมากจากเชื้อเดลต้า ซึ่งก็เหมือนกันจังหวัดอื่นๆใน 7 พื้นที่ภาคใต้ตอนบนที่การแพร่ระบาดเพิ่มสูงขึ้นทุกวัน ทำให้ขณะนี้เขต 11 มีการติดเชื้อไม่ต่ำกว่าวันละ 1,000 คน แต่อย่างไรก็ตามในส่วนของจังหวัดภูเก็ตนั้นถึงแม้ว่าจะมีการติดเชื้อในจำนวนที่สูงแต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรือผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวกว่าร้อยละ 85 ที่เป็นผู้ป่วยกลุ่มสีแดงที่มีอาการหนักนั้นน้อยมาก รวมไปถึงอัตราการเสียชีวิตก็ต่ำมากด้วย ทั้งนี้เนื่องจากประชาชนในจังหวัดภูเก็ตส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนทั้ง 2 เข็มแล้ว และขณะนี้กำลังบูสเตอร์โดสเข็มที่ 3

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ในส่วนของกลุ่มเปาะบาง หรือ กลุ่ม 608 ทั้งผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว ที่เมื่อติดเชื้อแล้วอาการจะรุนแรงและเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในกลุ่มของผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้รับวัคซีนจะด้วยเหตุผลใดก็ตามในก่อนหน้านี้ ที่เหลืออยู่ประมาณ 20% จะต้องเร่งให้คนกลุ่มนี้ฉีดวัคซีนทั้งหมดเพื่อป้องกันอาการรุนแรงและเสียชีวิต

นายแพทย์พิทักษ์พล กล่าวต่อว่า สำหรับการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดในภูเก็ตนั้น จะต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ หรือ ภายในปลายเดือน ก.ย.นี้ ทางสาธารณสุขได้วางไว้ .3 แนวทางด้วยกัน คือ 1. การจัดทีมปฏิบัติการโควิดเคลื่อนที่เร็ว หรือ ทีม CCRT ลงพื้นที่ตามชุมชนต่างๆ ทั่วทั้งเกาะภูเก็ต เพื่อค้นหาผู้ป่วยที่ยังหลงเหลือหรือตกค้างอยู่ในชุมชน ตรวจคัดกรองหาผู้ป่วยเชิงรุกด้วยวิธี ATK หากพบผู้ป่วยก็จะให้ยาทันที รวมถึงนำตัวส่งโรงพยาบาลหากอาการหนัก โดยได้ขอการสนับสนุนทีมงานควบคุมโรคจากเขต 11 ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และพังง จังหวัดละ 1 ทีม

จัดตั้ง “คลินิกอุ่นใจ” ขึ้น ที่หอประชุมศาลากลางหลังใหม่ โดยจะเปิดให้บริการในวันพรุ่งนี้ (15 ก.ย.) เพื่อเป็นคลินิกที่ให้คำปรึกษาปัญหาโควิดสำหรับผู้ที่มีความกังวลใจ ผู้ที่ต้องการยา และ เป็นคลินิกแรกรับผู้ป่วยโควิด ทั้งนี้เพื่อคลายความกังวลใจของประชาชนชาวภูเก็ต เมื่อมีความกังวลว่าตนเองจะติดโควิดหรือไม่ รวมไปถึงคนที่ตรวจ ATK ที่บ้านแล้วผลเป็นบวก จะได้เดินทางมาตรวจซ้ำยังคลินิกแห่งนี้ และเข้าสู่ขบวนการรักษาต่อไป โดยมีคู่สายให้ประชาชนได้โทรมาสอบถามทั้งหมด 20 คู่สาย ที่หมายเลข 076-254188-207 ตลอด 24 ชั่วโมง โดยจะเริ่มเปิดคู่สายตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย.นี้ เป็นต้นไป

และการควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในกลุ่มก้อนใหญ่ๆ ขึ้นมาอีก โดยทางกรมควบคุมโรคได้ส่งทีมเข้ามาดำเนินการในเรื่องนี้แล้ว ทั้งป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในคลัสเตอร์ใหม่ๆและใหญ่ๆ ขึ้นมา เช่น ตลาดสด ชุมชนหนาแน่น โรงงาน แคมป์คนงาน ด้วยการทำบับเบิ้ล แอนด์ ซีล มีการตรวจคัดกรองพนักงานและคนงานทุกๆคน

ผู้ตรวจราชการเขต 11 กล่าวต่อว่า ทั้ง 3 มาตรการที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ เป็นมาตรการทางแพทย์และสาธารณสุข เมื่อรวมกับมาตรการทางด้านสังคมที่ทางจังหวัดภูเก็ตได้ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ คาดว่าหลังจากนี้อีก 2 สัปดาห์ สถานการณ์การแพร่ระบาดในภูเก็ตน่าที่จะดีขึ้นตามลำดับด้านนายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่สำคัญของภูเก็ตในการควบคุมการแพร่ระบาด คิดว่าขณะนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อน่าที่จะขึ้นมาสูงสุดแล้ว และคาดว่าจากมาตรการทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขตัวเลขผู้ติดเชื้อจะลดลงหลังจากนี้ ทั้งการส่งทีม CCRT ลงพื้นที่สแกนหาผู้ติดเชื้อ หาผู้ไม่ได้รับวัคซีนมาฉีดวัคซีน การเปิดคลินิกอุ่นใจเพื่อคลายความกังวลในการเข้ารับการรักษา รวมไปถึงปรึกษาปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับโควิด และการควบคุมมให้เกิดคลัสเตอร์ใหญ่ๆขึ้นมาอีก และการคัดกรองคนจากภายนอกในการเดินทางเข้าภูเก็ตอย่างเข้มข้น จะทำให้สถานการณ์ในภูเก็ตดีขึ้นในเร็วๆนี้

รวมไปถึงในส่วนของเตียงรักษาที่ก่อนหน้านี้เรามีปัญหาไม่เพียงพอ ตอนนี้มีการจัดตั้ง Community Isolation ตามตำบลต่างๆ ทั้ง 3 อำเภอ รองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวรวมๆกันไม่ต่ำกว่า 1,000 คน เพื่อนำเตียงในโรงพยาบาลมาพัฒนาเป็นเตียงสำหรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและแดง ทำให้บรรยาเตียงผู้ป่วยไม่เพียงพอหมดไปแล้ว

Subscribe