ลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วย “การใช้เทคโนโลยี ผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตการเกษตรไม้ดอกไม้ประดับและพืชอัตลักษณ์ของจังหวัดภูเก็ต”

จังหวัดภูเก็ตกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วย “การใช้เทคโนโลยี ผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตการเกษตรไม้ดอกไม้ประดับและพืชอัตลักษณ์ของจังหวัดภูเก็ต”

ที่ ห้องประชุมมุขหน้าชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วย “การใช้เทคโนโลยี ผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตการเกษตรไม้ดอกไม้ประดับและพืชอัตลักษณ์ของจังหวัดภูเก็ต”โดยมี นาย สายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ(วว) นาย เรวัต อารีรอบ นายกอบจ.ภูเก็ต ผศ.ดร. หิรัญ ประสารการ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต นาย ศึกษา สุวรรณดิษฐกุล นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ร่วมลงนาม

นายณรงค์ กล่าวว่า เป็นโอกาสที่ดี เป็นอย่างมาก ต่อการใช้ประโยชน์ งานทาง วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในการนำมาใช้พัฒนาพื้นที่จังหวัดภูเก็ต โดยเฉพาะการท่องเที่ยว แหล่งธรรมชาติ ที่มีพรรณไม้พื้นถิ่นที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัด สืบเนื่องจาก ผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของ Covid-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 นอกจากปัญหาด้านสาธารณสุข สุขภาพของประชาชนแล้ว อีกหนึ่งเรื่อง ที่สำคัญ ที่ได้รับผลกระทบ ที่ไม่แพ้กัน คือ ปัญหาระบบเศรษฐกิจของจังหวัด เนื่องจาก จังหวัดภูเก็ตมีรายได้หลักมาจากการท่องเที่ยว ซึ่งการหดตัวเรื่องการท่องเที่ยว ส่งผลกระทบต่อจังหวัดภูเก็ตเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ได้แก่ ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจนำเที่ยว ธุรกิจร้านอาหาร รวมทั้งธุรกิจของฝากและของที่ระลึก ซึ่งได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งจากสถานการณ์การระบาด ณ ปัจจุบัน Covid-19 เริ่มคลี่คลายลง หลายประเทศ เริ่มคลาย lockdown รวมทั้งประเทศไทย เริ่มให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าออกได้ รวมทั้งแต่ละประเทศก็กำลังแสวงหากลยุทธ์ใหม่ๆ กระตุ้นการท่องเที่ยว เพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้กลับเยือนหรือมาท่องเที่ยวอีกครั้ง

นายณรงค์ กล่าวต่อไปว่า เพื่อให้การทำงานแบบบูรณการร่วมกันหลายฝ่าย เพื่อสร้างความยั่งยืน ซึ่งครั้งนี้ จะเป็นแนวคิดรูปแบบใหม่ คือ การนำ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาใช้ประโยชน์ในการสร้างแหล่งท่องเที่ยว ซึ่ง มิใช่เพียงแค่การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ครั้งนี้โครงการ ยังจะสร้างงาน สร้างอาชีพ และธุรกิจใหม่ ให้กับจังหวัดด้วยการ พัฒนา Model การท่องเที่ยวแหล่งที่ 3 ของจังหวัดภูเก็ต นอกเหนือจาก ทะเล เมืองเก่า ที่เป็นการนำศิลปะ วัฒนธรรมประเพณี มาผสมผสานกับวิถีชีวิต การแต่งกาย และอาหารพื้นเมืองของเมืองภูเก็ต และวันนี้จะมีแหล่งท่องเที่ยวใหม่ คือ ถนนสายดอกไม้ของเมืองภูเก็ต การดำเนินงานด้านไม้ดอกไม้ประดับของจังหวัดภูเก็ตนั้น จะเกิดจากความร่วมมือ ประกอบด้วย 5 หน่วยงาน ได้แก่ 1 วว.. 2. อบจ.ภูเก็ต 3. สมาคมโรงแรม 4. มหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต รวมทั้ง จังหวัดภูเก็ตที่เป็นหน่วยงานที่ผมรับผิดชอบร่วมด้วย โดย วว. จะนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี ด้านการพัฒนาไม้ดอกไม้ประดับมามอบให้กับจังหวัด เพื่อนำความรู้เหล่านี้ ถ่ายทอดให้กับเกษตรกรผู้ปลูกเลี้ยงไม้ดอกไม้ประดับ อีกทั้งใช้ทรัพยากรที่มีในพื้นที่ สร้างประโยชน์และเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ให้กับจังหวัด พร้อมทั้งการออกแบบให้เข้ากับภูมิอากาศ และภูมิทัศน์ เพื่อเกิดความเหมาะสมกับจังหวัด ซึ่งปัจจุบัน จังหวัดภูเก็ต นำเข้าไม้ดอกไม้ประดับมาจากนอกพื้นที่ ซึ่งต่อไปนี้ คนภูเก็ตเอง จะเป็นผู้ผลิตและเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากไม้ดอกไม้ประดับได้โดยตรง และนอกจากพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวแล้ว วว. ก็ยังพัฒนาเป็นองค์ความรู้ เพื่อสร้างผู้ประกอบการ สร้างอาชีพ เพื่อให้เกิดธุรกิจใหม่ด้านการเกษตรในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต อีกทั้งได้รับการสนับสนุนและร่วมกันพัฒนาพื้นที่ จากทาง อบจ. จังหวัดภูเก็ต นำพื้นที่มาใช้ประโยชน์ ในการพัฒนา ด้านการผลิตไม้ดอกไม้ประดับ และนอกจาก วว. และ อบจ. แล้ว ยังมีหน่วยงานที่จะเป็นหัวใจสำคัญในการผลักดันงานให้ประสบความสำเร็จ ได้แก่ สมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ จะเข้ามาเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากไม้ดอกไม้ประดับ นอกจากนำไปใช้ตกแต่งสถานที่ตามโรงแรมต่างๆ ในเครือข่ายสมาคมแล้ว ก็จะนำไปประดับใน menu อาหารและเครื่องดื่มต่าง ๆ ในเครือข่ายของสมาคมร่วมแล้ว ทางสมาคมจะเป็นผู้สร้างตัวกลางหรือ trader ไม้ดอกไม้ประดับของจังหวัดภูเก็ต เพื่อเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างโรงแรมต่าง ๆ และเกษตรกร เพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อธุรกิจไม้ดอกไม้ประดับในพื้นที่ รวมทั้ง มหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต ร่วมสนับสนุน ก็จะมาช่วยพัฒนานิสิตนักศึกษาคนรุ่นใหม่ของจังหวัดภูเก็ตมาร่วมทำธุรกิจด้านไม้ดอกไม้ประดับ รวมทั้งจะมหาวิทยาลัยจะเป็นพี่เลี้ยงเทคโนโลยี และเป็นศูนย์การบ่มเพาะและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตไม้ดอกไม้ประดับให้กับพื้นที่ จังหวัดภูเก็ต

ทั้งนี้การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับกระบวนการปลูกเลี้ยงไม้ดอกไม้ประดับในพื้นที่ ถือเป็นการสร้างงานสร้างอาชีพแก่เกษตรกรชาวจังหวัดภูเก็ตซึ่งจะเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีกทางหนึ่งและลดการนำเข้าไม้ดอกไม้ประดับจากนอกพื้นที่ซึ่งจะเป็นกรลดต้นทุนกับผู้ประกอบการและยังป็นการสร้างรายได้แก่ประชาชนในพื้นที่อีกด้วย หลังจากนั้นทางคณะได้มีการปลูกต้นไม้ในบริเวณศาลากลางจังหวัดภูเก็ตอีกด้วย

Subscribe