อบจ.ภูเก็ต เสนอ ครม. ผุดโครงการ “ภูเก็ต เฮลท์ แซนด์บ็อกซ์”

อบจ.ภูเก็ต เสนอ ครม. ผุดโครงการ “ภูเก็ต เฮลท์ แซนด์บ็อกซ์” เมืองแห่งความผูกพันผู้คนสู่สุขภาพโลก ช่วยคนเข้าถึงระบบสาธารณสุข ลดความเหลื่อมล้ำ

นายเรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วย นายแพทย์บัญชา ค้าของ รองประธานคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต และ ที่ปรึกษาพิเศษนายก อบจ.ภูเก็ต กล่าวถึงการเสนอของบประมาณเพื่อดำเนินโครงการ “ภูเก็ต เฮลท์ แซนด์บ็อกซ์” ในการประชุม ครม. สัญจรที่จังหวัดกระบี่ ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 16 พ.ย.นี้ ว่า โครงการ “ภูเก็ต เฮลท์แซนด์บ็อกซ์” เมืองแห่งความผูกพันผู้คนสู่สุขภาพโลก เป็นโครงการต้นแบบเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพครบวงจรเพื่อรองรับประชากรชาวไทยและชาวโลก 1.2 ล้านคน โดยพัฒนาระบบบริการรูปแบบใหม่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำเนื่องจากการเข้าไม่ถึงบริการในสังคมเมือง พร้อมการเชื่อมโยงบริการสุขภาพของทุกภาคส่วนไปสู่ประชาชนอย่างทั่วถึง เป็นฐานรากที่เข้มแข็งไปพร้อมกับบริการสุขภาพเพื่อการแข่งขัน

สำหรับโครงการระยะแรกซึ่งเป็นการดำเนินมีกิจกรรมนำร่อง จะขอรับสนุนสนุนงบ ประมาณรวมทั้งสิ้น 85 ล้านบาท โดยมีองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตเป็นหน่วยดำเนินการ ประกอบด้วย 1) ค่าเช่าแพลตฟอร์มบริการสุขภาพและจัดการข้อมูลรายบุคคล (โรงพยาบาลออนไลน์) 4 แสนคนจำนวน 52.456 ล้านบาท 2) จัดตั้งสถานีบริการสุขภาพด้วยระบบดิจิทัลระดับหมู่บ้านและชุมชน 10 แห่ง จำนวน 27.544 ล้านบาท และ 3) จัดตั้งศูนย์บริหารยุทธศาสตร์เพื่อบูรณาการบริการสุขภาพร่วม ท้องถิ่น รัฐและเอกชน จำนวน 5 ล้านบาท

“ภูเก็ต เฮลท์ แซนด์บ็อกซ์” ตามหลักคิดใหม่ “เมืองแห่งความผูกพันผู้คนสู่สุขภาพ” เป็นโครงการรองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมในกรอบการพัฒนาแนวใหม่ ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ต่อเนื่องไปในอนาคต อยู่ส่วนฟื้นฟูด้านธุรกิจและเศรษฐกิจท่องเที่ยว และการสร้างความเข้มแข็งชุมชน โดยการสร้างสมดุลและความมั่นคงต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวสู่ความมั่นคงยั่งยืน โดยหลักการประกอบด้วย นิยามใหม่พลเมืองโลกภูเก็ต 1,200,000 คน ประกอบด้วยคนภูเก็ต คนต่างจังหวัด คนต่างประเทศที่ต้องได้รับการดูแลที่เหมือนกัน เพื่อให้เกิดความมั่นคงปลอดภัยด้านสุขภาพระบบสุขภาพใหม่ เมืองแห่งความผูกพันผู้คนสู่สุขภาพโลก สร้างจุดขายใหม่ สร้าง 3 ปัจจัย ที่ทำให้คนสุขภาพดีอายุยืนยาวมากที่สุดของโลก ประกอบด้วย ความผูกพันในครอบครัว ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และการลดปัจจัยเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) ด้วยพฤติกรรม 3 อ.ด้วยระบบ Digital health literacy platform โรงพยาบาลออนไลน์ 1 เตียงและกิจกรรมของเมืองสุขภาพ รวมไปถึงบริการที่มั่นคงปลอดภัย โดยมีศูนย์ประสานบริการภายใต้แผนบูรณาการสุขภาพ ทั้งรัฐ และเอกชน โดยมีกลไก ระบบบริการปฐมภูมิที่กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นเชื่อมบริหารจัดการกับโรงพยาบาลระดับต่างๆ มีกรรมการนโยบายจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการเป็นประธานกำกับ นอกจากนั้น ยังมีระบบการดูแลสุขภาพระดับสูง (High care) หมายถึง Medical & Wellness hub โดยภาคธุรกิจเอกชน ซึ่งจำเป็นต้องมี สู่การเป็นผู้นำในการปกป้องประชากรโลกจากโรคที่ร้ายแรงซึ่งคุกคามชีวิตในปัจจุบัน

นายแพทย์บัญชา กล่าวต่อไปว่า สำหรับเป้าหมายใหม่เมืองท่องเที่ยวที่มั่นคงและสมดุล คือการสร้างความเข้มแข็งด้านสุขภาพเป็นฐานให้ระบบท่องเที่ยว และเศรษฐกิจ เติบโตอย่างมั่นคง ดังบทเรียนในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ประชาชนสามารถข้าถึง PHUKET HEALTH SANDBOX โดย PHUKET PRIVILEGE CARE CARD เอกสิทธิ์ผ่านสมาชิกพลเมืองภูเก็ต ได้รับสิทธิดังนี้

1.โรงพยาบาลประจำตัวออนไลน์ มีระบบจัดการสุขภาพประจำตัวออนไลน์ที่เชื่อมโยงการจัดการสุขภาพโดยตนเอง (self care) ด้วย เครื่องมือ Digital Health Literacy (DHL) จำนวน 1 ล้านคน 2.เข้าถึงสถานที่ที่เอื้อต่อสุขภาพ (Healthy city) 3.เข้าถึงสถานีสุขภาพชุมชนใกล้บ้านระบบดิจิทัล 157 ชุมชน คัดกรองสุขภาพ ตรวจรักษาทางไกล และรับยาด้วยตู้จ่ายยาอัตโนมัติ 4.เข้ารับบริการโรงพยาบาลระดับต่างๆ ตั้งแต่ รพ.สต. จนถึงโรงพยาบาลศูนย์ ที่ยกระดับบริการด้วยการเชื่อมโยงเป็นระบบเดียวกันด้วยระบบ Telemedicine และ Teleconsultation โดยศูนย์ประสานบริการ Any care center โครงการ Phuket health sandbox วางระยะโครงการไว้ 7 ปี เพื่อเชื่อมโยงกับ Spacial expo 2028 ที่ภูเก็ต ซึ่งงบประมาณทั้งโครงการจะต้องใช้ทั้งสิ้น 991.136 ล้านบาท โดยระยะแรกขอสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล จำนวน 85 ล้านบาท จะทำให้สามารถเป็นต้นแบบระบบสุขภาพชุมชนเมือง ขยายเชื่อมภูมิภาคอันดามัน สร้างความปลอดภัยด้านสุขภาพและเพิ่มจุดขายให้การท่องเที่ยวด้วยแนวคิด “เมืองแห่งความผูกพันผู้คนสู่สุขภาพโลก”

Subscribe