กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ปัญหาคลื่นทะเลกัดเซาะชายฝั่งฯ ลงพื้นที่รับฟังข้อมูล โครงการขุดลอกร่องน้ำอ่าวกุ้ง จ.ภูเก็ต หลังชาวบ้านในพื้นที่เห็นต่าง

กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ปัญหาคลื่นทะเลกัดเซาะชายฝั่งและพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลอย่างเป็นระบบ สภาผู้แทนราษฎร์ นำโดยนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล ประธานคณะกรรมาธิการ ลงพื้นที่บ้านอ่าวกุ้ง ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เพื่อติดตามรายละเอียด โครงการขุดลอกร่องน้ำอ่าวกุ้ง (ท่าเล ) จ.ภูเก็ต หลังมีกรณีพิพาทเกิดขึ้นระหว่างชาวบ้านในพื้นที่เนื่องจากมีชาวบ้านที่เห็นด้วยกับการขุดลอกร่องน้ำดังกล่าว และ กลุ่มที่คัดค้านไม่อยากให้มีการขุดลอกร่องน้ำในบริเวณดังกล่าวเกิดขึ้น

โดยวันนี้ทางคณะกรรมาธิการได้ลงพื้นที่ 2 จุด คือ จุดมัสยิดบ้านอ่าวกุ้ง ต.ป่าคลอก เพื่อรับฟังข้อมูล จากชาวบ้านกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการขุดลอกร่องน้ำดังกล่าว ซึ่งมีทั้ง กลุ่มอนุรักษ์ป่าเลน นักวิชาการ และ ชาวบ้านบางส่วน โดยกลุ่มคัดค้าน ได้นำเสนอข้อมูลและได้มีการพูดถึงปัญหาการขุดลอกร่องน้ำ ถ้ามีการขุดลอกจะส่งผลกระทบต่อป่าชายเลน ปะการัง และ พื้นที่ดังกล่าวไม่มีร่องน้ำที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ แต่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ รวมทั้งป่าชายเลยที่หายไปประมาณ 30 เมตร หลังจากให้ข้อมูลทางกลุ่มได้ยื่นคัดค้านโครงการดังกล่าว

หลังจากนั้นทางคณะได้เดินทางไปยังบริเวณที่จะมีการขุดลอกร่องน้ำ ซึ่งมีชาวบ้านที่สนับสนุนอยากให้มีโครงการดังกล่าวเกิดขึ้น โดยชาวบ้านระบุ ว่าที่ผ่านมา มีท่าเรือในบริเวณ และชาวบ้านนำเรือมาจอด แต่ก็มีปัญหาเรื่องของร่องน้ำตื้นเขิน การนำเรือออกทะเลไม่สามารถนำออกไปได้ตลอดเวลา จะนำเรือออกได้ก็ต่อเมื่อมีน้ำขึ้นเท่านั้น จึงอยากให้โครงการดังกล่าวเกิดขึ้น เพื่อให้เกิดความสะดวกในการเดินเรือ ซึ่งหลังจากให้ข้อมูลชาวบ้านก็ได้ยื่นหนังสือสนับสนุนการขุดลอกร่องน้ำดังกล่าวเช่นกัน

ขณะที่นายจรัล ดำเนินผล รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาและบำรุงทางน้ำที่ 3 กรมเจ้าท่าจากสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ต กล่าวว่า ขณะนี้โครงการขุดลอกร่องน้ำยังไม่ได้ดำเนินการขุดลอกแต่อย่างใด ซึ่งทางอธิบดีกรมเจ้าท่า ได้เน้นย้ำในการดำเนินการนั้นจะต้องไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้นในพื้นที่ โดยโครงการนี้เกิดขึ้นเนื่องจากชาวบ้านได้ยื่นขอไปยังเทศบาลตำบลป่าคลอก ทางเทศบาลจึงได้ขออนุเคราะห์ไปยังคณะกรรมการจังหวัดให้กรมเจ้าท่า โดยสำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำ ที่มิภารกิจในการขุดลอกมาออกแบบร่องน้ำให้กับชุมชน ซึ่งในการออกแบบร่องน้ำก็จะคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก และการจะขุดลอกร่องน้ำจะทำได้หรือไม่ได้ขึ้นอยู่กับทาง ท้องถิ่นว่าจะแก้ปัญหาเรื่องของความขัดแย้งได้อย่างไร เพราะถ้ายังมีปัญหาขัดแย้งก็ไม่สามารถดำเนินการได้

ด้านนายวิษณุ แจ้งใจ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 10 (กระบี่) กล่าวว่า การโครงการขุดลอกร่องน้ำอ่าวกุ้ง (ท่าเล) ได้มีการปฏิบัติตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และขณะนี้ยังไม่มีส่วนเกี่ยวของกับทางสำนักงาน เพราะยังไม่มีเรื่องไปสู่สำนักงาน ส่วนกรณีที่ชาวบ้านแจ้งความ 3 ก.ย. 64 เรื่องของการคัดไม้ทำลายป่านั้นขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของพนักงานสอบสวน

ส่วนสภาพป่าชายเลยนั้น ต้องเข้าใจถึงบริบทของป่าชายเลน ทุกที่จะจะมีร่องน้ำตามธรรมชาติอยู่แล้ว จะมีทั้งร่องเล็กและร่องใหญ่ก็แล้วแต่ การขุดลอกร่องน้ำมีระเบียบอยู่ ถ้าอยู่ในเขตป่าสงวนต้องขออนุญาตและดำเนินการไปให้เป็นไปตามกฎหมาย แต่ถ้าไม่อยู่ในเขตป่าสงวน แต่อยู่ในเขตป่าตามมติครม. หรืออยู่ในเขตป่าตามสภาพก็ต้องดูว่าพื้นที่ดังกล่าวมีร่องน้ำเดิมหรือไม่ ถ้ามีร่องน้ำเดิมผู้ดุแลรัการ่องน้ำก็สามารถดำเนินการให้ร่องน้ำนั้นสามารถใช้งานได้ตามกปกติ

ขณะที่ นางพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล ประธานคณะกรรมาธิการ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ปัญหาคลื่นทะเลกัดเซาะชายฝั่งและพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลอย่างเป็นระบบ สภาผู้แทนราษฎร์ กล่าวว่า การลงพื้นที่บริเวณดังกล่าวเนื่องจากทางคณะกรรมาธิการ ทราบว่าการดำเนินโครงการขุดลอกร่องน้ำอ่าวกุ้ง (ท่าเล) มีปัญหาความขัดแย้งของคนในพื้นที่ ที่เกินจากความเห็นเห็นต่างของคน 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย และ กลุ่มเห็นด้วย ซึ่งก่อนที่จะลงพื้นที่ก็ได้มีการสรุปประเด็นกันไปในระดับหนึ่ง แต่มาวันนี้เพื่อรับฟังปัญหาจากคนในพื้นที่จริงๆ จากทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อรวบรวมข้อมูลไปสอบถามข้อเท็จจริงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง

ซึ่งจากการลงพื้นที่ พบว่าเรื่องของตัวร่องน้ำชาวบ้านก็มีความคิดเห็นไม่ตรงกันฝ่ายหนึ่งอยากให้จุด อีกฝ่ายคัดค้าน ซึ่งการจะดำเนินโครงการได้สำเร็จหรือไม่สำเร็จก็ต้องขั้นอยู่กับชุมชน ซึ่งตอนนี้เห็นได้ชัดว่าความคิดเห็นของทั้ง 2 ฝ่ายไม่ตรงกัน ซึ่งเรื่องนี้จะต้องหาจุดจบ และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

สำหรับรูปแบบการขุดลอกร่องน้ำอ่าวกุ้ง (ท่าเล) นั้น ได้ออกแบบให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ขนาดของเรือที่ใช้ร่องน้ำ และไม่กระทบสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยตามแบบจะมีการขุดลอกร่องน้ำระยะทาง 1,200 เมตร ด้านนอกกว้าง 30 เมตร ด้านในที่ติดชายฝั่งกว้าง 15 เมตร เพราะในส่วนด้านในนั้นจะอยู่ติดกับป่าชายเลน ป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับป่าชายเลน มีความลาดเอียง 1:5 ขุดลึก 2 เมตร เพื่อให้สามารถรองรับเรือได้ตลอดเวลา และรองรับเรือที่กินน้ำลึกไม่เกิน 2 เมตร เพราะเรือที่ใช้ร่องน้ำนี้จะเป็นเรือประมงส่วนใหญ่ และในอนาคตหากมีการพัฒนาทางด้านการท่องเที่ยวเกิดขึ้น เรือสปีดโบ๊ต หรือเรือที่กินน้ำลึกไม่เกิน 2 เมตร จะสามารถใช้ร่องน้ำนี้ได้อีกด้วย

Subscribe