ประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาแผนหลักแบบบูรณาการเพื่อการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ จัดประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาแผนหลักแบบบูรณาการเพื่อการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง พื้นที่เฉพาะ (Area Based) เกาะภูเก็ต เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับพื้นที่ เหมาะสมตามความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

ณ โรงแรมบูกิตตา บูทีค โฮเทล จังหวัดภูเก็ต
นายอำนวย พิณสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ให้การต้อนรับ ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในโอกาส เดินทางมา เป็นประธานเปิดการประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาแผนหลักแบบบูรณาการเพื่อการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง พื้นที่เฉพาะ (Area Based) เกาะภูเก็ต โดยมี นางพัชรวีร์ สุวรรณิก ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนแม่บท สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ, คณะที่ปรึกษา, หัวหน้าส่วนราชการ, ผู้นำท้องถิ่น/ท้องที่ ,ผู้นำชุมชน,ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวและบริการ ,ผู้แทนภาคประชาชน ภาคเอกชนในพื้นที่ เข้าร่วม

โดยนายอำนวย พิณสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้รายงานข้อมูลของจังหวัดภูเก็ตว่า “จังหวัดภูเก็ตได้ชื่อว่าเป็นมุกงามของไทย และมีคำขวัญของจังหวัดว่า “ไข่มุกอันดามัน สวรรค์เมืองใต้ หาดทรายสีทอง สองวีรสตรี บารมีหลวงพ่อแช่ม ” ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงมนต์เสน่ห์ที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก ให้เข้ามาท่องเที่ยว จนสามารถสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจให้กับประเทศจำนวนมหาศาลในแต่ละปี ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าว ก็ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความต้องการใช้น้ำในจังหวัดอย่างต่อเนื่องมาทุกปีเช่นกัน

การที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้ดำเนินการจัดทำโครงการศึกษาแผนหลักแบบบูรณาการเพื่อการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง พื้นที่เฉพาะ (AreaBased) เกาะภูเก็ต นับว่าเป็นประโยชน์ต่อยุทธศาสตร์การพัฒนาของจังหวัดเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะได้มีทิศทางในการการขับเคลื่อนการพัฒนา ให้เกิดความสอดคล้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ที่มีความเหมาะสมในระดับพื้นที่ และเป็นไปตามความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย”

ด้าน นางพัชรวีร์ สุวรรณิก ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนแม่บท สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กล่าวว่า “การประชุมรับฟังความคิดเห็นความของประชาชน (ปัจฉิมนิเทศ) ของโครงการศึกษาแผนหลักแบบบูรณาการเพื่อการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง พื้นที่เฉพาะ (Area Based) เกาะภูเก็ต ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอผลการจัดทำแผนหลักแบบบูรณาการเพื่อการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่เกาะภูเก็ต ให้กับกลุ่มเป้าหมายได้รับทราบและให้ข้อเสนอแนะ รวมถึงรับฟังความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมการประชุม จำนวนประมาณ 300 คน โดยมาจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้นำชุมชน และผู้แทนภาคประชาชนในพื้นที่ เพื่อนำข้อเสนอแนะและความคิดเห็นเพิ่มเติมจากการประชุมในครั้งนี้ ไปปรับปรุงรายงานให้เกิดความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นทั้งนี้ ผลการศึกษาของโครงการ ได้จากกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องทางด้านวิชาการแล้วแหล่งที่มาของข้อมูลที่สำคัญประการหนึ่ง เกิดจากการได้รับข้อมูลในบริบทของพื้นที่ในระดับตำบล ผ่านเวทีการรับฟังความคิดเห็นตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการ ได้แก่ การลงพื้นที่ของงานด้านมวลชน การประชุมปฐมนิเทศการประชุมกลุ่มย่อย จำนวน 2 ครั้ง การสนทนากลุ่ม และการลงพื้นที่สำรวจภาคสนามของคณะผู้เชี่ยวชาญของโครงการ ซึ่งได้ถูกรวบรวมและนำมาศึกษา/วิเคราะห์ เพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไข บรรเทาปัญหาด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของจังหวัดภูเก็ต ซึ่งในปัจจุบัน จังหวัดภูเก็ตมีการขาดแคลนน้ำรายปีเฉลี่ย25 ล้านลูกบาศก์เมตร และความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นประมาณ 100 ล้านลูกบาศก์ ภายในปี 2580 สำหรับการศึกษาครั้งนี้ มีการกำหนดแผนงานขับเคลื่อนไว้มากกว่า 400 โครงการ ซึ่งได้หลักแบบบูรณาการเพื่อการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง พื้นที่เฉพาะ (Area Base) เกาะภูเก็ต แผนงานดังกล่าว จะสนับสนุนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดภูเก็ต ภายใต้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำจนถึงปี 2580 ซึ่งมีผลสัมฤทธิ์ของแผนหลัก ดังนี้ ปริมาณน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้นประมาณ60 ล้านลูกบาศก์เมตร ,พื้นที่รับประโยชน์จากการจัดการด้านอุทกภัยประมาณ 42,800 ไร่,ปริมาณน้ำเสียได้รับการบำบัดเพิ่มขึ้นประมาณ 5 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และสามารถนำน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วกลับมาใช้ใหม่ประมาณ 33 ล้านลูกบาศก์เมตร ป่าต้นน้ำที่ได้รับการฟื้นฟู จำนวน 140 ไร่ และป้องกันการพังทลายของดินได้ 5,120 ไร่ และมีเทคโนโลยีการผลิตน้ำทะเลเป็นน้ำจืด และแผนงานศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรน้ำในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต
อย่างไรก็ตาม จากแผนงาน/โครงการ ที่ถูกบรรจุไว้ในแผนหลักฯดังกล่าว ได้มีการกำหนดโครงการที่สามารถแก้ไขปัญหาเร่งด่วนในพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว ในลักษณะของการวางโครงการเบื้องต้น เพื่อใช้เป็นต้นแบบในการขยายผลของการดำเนินโครงการ ในแต่ละด้านของการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยได้พิจารณาโครงการที่มีความพร้อมมากที่สุด จำนวน7 โครงการ ที่จะผลักดันให้มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป “

Subscribe