ประเพณีลอยกระทง “ชมพระจันทร์ วันเพ็ญ ลอยกระทง ย้อนยุค” เทศบาลนครภูเก็ต

จังหวัดภูเก็ตโดยเทศบาลนครภูเก็ต จัดประเพณีลอยกระทง “ชมพระจันทร์ วันเพ็ญ ลอยกระทง ย้อนยุค” เทศบาลนครภูเก็ต ประจำปี 2566 ณ สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ (สวนหลวง ร.9)

นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยนางบุษดี สุวรรณรัตน์ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดภูเก็ตและประธานชมรมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานเปิดงานประเพณีลอยกระทง “ชมพระจันทร์ วันเพ็ญ ลอยกระทง ย้อนยุค” เทศบาลนครภูเก็ต ประจำปี 2566 ณ สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ (สวนหลวง ร.9) โดยมีนายสาโรจน์ อังคณาพิลาส นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต รองนายกเทศมนตรีนครภูเก็ต คณะผู้บริหารเทศบาลนครภูเก็ตคณะกรรมการจัดงาน และประชาชนจังหวัดภูเก็ต เข้าร่วม

นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตกล่าวว่า “ประเทศไทยของเราเป็นประเทศที่มีขนบธรรมเนียมประเพณี และศิลปวัฒนธรรมที่สวยงามซึ่งบ่งบอกถึงความเจริญรุ่งเรือง และเป็นเอกลักษณ์ของชาติแม้กาลเวลาจะล่วงเลยมาหลายร้อยปีแล้ว ประชาชนคนไทยก็ยังอนุรักษ์
สืบสานขนบธรรมเนียม ประเพณี และศิลปวัฒนธรรมเอาไว้อย่างเหนียวแน่นจนถึงปัจจุบันนี้ เชื่อว่าถ้าหากคนไทยเราไม่ตระหนักหรือเล็งเห็นถึงความสำคัญ ของการอนุรักษ์สืบสาขนบธรรมเนียมประเพณีและศิลปวัฒนธรรมไว้แล้ว นับวันสิ่งดีๆ เหล่านั้น ก็จะค่อยๆเลือนหายไป จากความทรงจำของคนไทยในที่สุด เมื่อถึงวันนั้นลูกหลานไทย ก็จะรู้จักประเพณีลอยกระทงก็แต่ในรูปภาพเท่านั้นรู้สึกดีใจที่เทศบาลนครภูเก็ต นักเรียน เยาวชนและพี่น้องชาวจังหวัดภูเก็ต ได้ช่วยกันส่งเสริมอนุรักษ์และสืบสานประเพณีอันดีงามไว้ เพราะนอกจากจะเป็นการอนุรักษ์และสืบสานประเพณีอันดีงามไว้แล้ว ยังเป็นการบ่งบอกถึงความตั้งใจจริงของเทศบาลนครภูเก็ตในการปฏิบัติภารกิจหน้าที่ด้านการส่งเสริมประเพณี และวัฒนธรรมให้เป็นรูปธรรมในนามของจังหวัดภูเก็ต จะสนับสนุนการจัดงานประเพณีลอยกระทงของเทศบาลนครภูเก็ตให้คงอยู่สืบไป และขอให้ผู้ที่มาร่วมงานประเพณีลอยกระทง ได้ช่วยกันใช้กระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติเพื่อจะได้ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และไม่ก่อให้เกิดมลภาวะในแม่น้ำลำคลอง”

โดยประเพณีลอยกระทง เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมานานกว่า 3,000 ปี สำหรับประเทศไทยจากหลักฐานพบว่าเริ่มมาตั้งแสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี ตามตำนานนางนพมาศในครั้งนั้น ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือ นางนพมาศ ซึ่งเป็นสนมเอกของพระมหาธรรมราชาลิไทหรือพระร่วง ได้คิดประดิษฐ์กระทงเป็นรูปดอกบัวโกมุทขึ้น ด้วยเห็นว่า ดอกบัวพิเศษที่บานรับแสงจันทร์ในเวลากลางคืนมีเพียงปีละครั้ง ในสุโขทัยนั้น เรียกพิธีลอยกระทงว่า”พระราชพิธีจองเปรียง”เป็นพิธีจุดโคมบูชาเทพเจ้ากระทำกัน ในวันเพ็ญเดือนสิบสอง ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เรียกว่า”พระราชพิธีลอยกระทงทรงประทีป ” แต่ถ้าเป็นพิธีของราษฎรชาวบ้านทั่วไปเรียกสั้น ๆ ว่า “พิธีลอยกระทง” และได้สืบทอดต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้

ทั้งนี้เทศบาลนครภูเก็ต ตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ในการส่งเสริมและอนุรักษ์ขนบธรรมเนียประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น ให้คงอยู่ตลอดไป จึงได้จัดงาน ประเพณีลอยกระทงขึ้นเป็นประจำทุกปี สำหรับปีนี้ได้จัดท่าน้ำลอยกระทงเพื่อบริการประชาชน และประกอบพิธีลอยกระทง ณ สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ (สวนหลวง ร.9)
ให้เกิดการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูสืบสานประเพณีโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และส่งเสริมวัฒนธรรม อันดีงามของไทยให้คงอยู่กับอนุชนรุ่นหลังต่อไป,เพื่อให้เกิดความรัก ความสมานสามัคคี ความสัมพันธ์อันดีงามระหว่างหน่วยงาน สถาบันต่าง ๆ และประชาชนในท้องถิ่น,เป็นการขอขมาต่อพระแม่คงคา และปลูกจิตสำนึกให้รู้ถึงคุณค่า รู้รักษาทรัพยากรทางน้ำเพื่อการส่งเสริมศาสนาประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของเทศบาลให้เป็นรูปธรรม

โดยการจัดงานได้รับร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเป็นอย่างดียิ่ง

Subscribe