ผู้ประกอบการรายย่อยในภูเก็ต ส่งเสียงไปยังรัฐบาลให้เข้ามาช่วยเหลือให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนมาต่อลมหายใจ ให้เปิดกิจการได้

ผู้ประกอบการรายย่อยในภูเก็ต ส่งเสียงไปยังรัฐบาลให้เข้ามาช่วยเหลือให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนมาต่อลมหายใจ ให้เปิดกิจการได้ เผยที่ผ่านมาไม่เคยกู้เงินจากนโยบายรัฐได้ เงื่อนไขไม่ตอบโจทก์ธุรกิจท่องเที่ยวรายย่อย ขอรัฐจัดเป็นเงินอุดหนุนพิเศษ หรือ กองทุนช่วยเหลือ

ผู้สื่อข่าวรายงาน นายปิยพงศ์ ชูวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจจังหวัดภูเก็ต ครั้งที่ 4/2564 เพื่อพิจารณาหาแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวรายย่อยในภูเก็ต ตามมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูธุรกิจและผู้ประกอบการท่องเที่ยวภูเก็ต โดยมีหน่วยงานภาครัฐ เอกชน เข้าร่วม ณ ห้องประชุมคอซิมบี้ ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต

โดย นายสร้างสรรค์ ทองตัน นายกสมาคมพัฒนาส่งเสริมผู้ประกอบการท่องเที่ยวภูเก็ต ได้นำเสนอปัญหาของผู้ประกอบการท่องเที่ยวในภูเก็ตที่เป็นผู้ประกอบการรายย่อย หรือ SMEs ด้านการท่องเที่ยวในภูเก็ต ที่ขณะนี้ประสบปัญหาไม่มีเงินทุนในการมาฟื้นฟูกิจการทำให้กิจการต่างๆ ในภูเก็ตที่เป็นเอสเอ็มอีต้องปิดกิจการไม่เป็นจำนวนมากไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ซึ่งเราจะเห็นได้ตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ธุรกิจต่างๆ จะปิดกิจการ ติดป้ายให้เช่า ติดป้ายให้เซ้งกิจการ เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้เนื่องจากผู้ประกอบการ SMEs .ในภูเก็ต ไม่มีเงินทุนที่จะมาหมุนเวียน จากที่ไม่สามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินได้แม้ว่าจะเป็นโครงการที่ทางรัฐบาลออกมาเพื่อให้การสนับสนุนและแก้ปัญหาให้กับผู้ประกอบการก็ตาม

ทั้งนี้เนื่องจากเงื่อนไขต่างๆ ที่ ธปท.กำหนด ไม่ตอบโจทก์ SMEs ในภูเก็ต เช่น โครงการที่มีการปล่อยเงินกู้ระยะสั้นดอกเบี้ยต่ำ หรือ Soft Loan วงเงิน 16,000 ล้านบาท ผู้ประกอบการ SMEs ในภูเก็ตไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในส่วนนี้ได้เลย เงินกู้ก้อนหนี้ไปตกอยู่ที่กิจการด้านอื่นๆ ทั้งหมด ทำให้ SMEs ในภูเก็ต ไม่สามารถเข้าถึงเงินกู้ก้อนนี้ได้นายสร้างสรรค์ กล่าวต่อว่า จากการรวบรวมข้อมูลของทางสมาคมพัฒนาส่งเสริมผู้ประกอบการท่องเที่ยวภูเก็ต ตอนนี้มีธุรกิจ SMEs ในภูเก็ต ที่ให้บริการด้านการท่องเที่ยวต้องการสินเชื่อเพื่อมาต่อลมหายใจให้ธุรกิจเดินต่อไปได้ จำนวน 277 ราย วงเงินกู้รวมอยู่ที่ประมาณ 650 ล้านบาท ซึ่งความต้องการเงินกู้ไม่ได้สูงมากอยู่ที่กิจการละประมาณ 2 ล้านกว่าบาท และคาดว่ายังมีผู้ประกอบการอีกจำนวนมากที่ยังเข้าไม่ถึงเงินทุน

“ที่ผ่านมาหลังจากที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด ผู้ประกอบการรายย่อย กู้เงินจากสถาบันการเงินไม่ได้เลยและกู้ได้ยากมาก เนื่องจากกิจการต่างๆ ไม่มีรายได้เข้ามาตั้งแต่การเกิดโควิดตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ทำให้ธนาคารไม่ปล่อยเงินกู้ให้” นายสร้างสรรค์ กล่าวและว่า

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการรายย่อยในภูเก็ตต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลงมาดูสภาพพื้นที่และพูดคุยหารือกับผู้ประกอบการรายย่อยถึงความต้องการสินเชื่อ เพื่อจะได้ทราบถึงปัญหาที่แท้จริงที่ผู้ประกอบการไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ เพราะเงื่อนไขต่างๆ ที่ ธปท.ตั้งมาก่อนหน้านี้ไม่ตอบโจทก์ธุรกิจรายย่อยในภูเก็ต

ด้าน นายพชร เหลือละมัย นายกสมาคมที่พักบูติกภูเก็ต กล่าวว่า ผู้ประกอบการโรงแรมบูติกในภูเก็ตก็เป็นอีกหนึ่งกิจการที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและกว่าร้อยละ 90 ไม่ได้รับการเยียวยาใดๆ จากภาครัฐ ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ได้ยื่นหนังสือถึงหน่วยงานต่างๆ ทั้งนี้เนื่องจากโรงแรมบูติกในภูเก็ตส่วนใหญ่ยังไม่มีใบอนุญาตจึงไม่สามารถกู้เงินจากธนาคารได้ ซึ่งหากผู้ประกอบการรายย่อยไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ จะมีเงินทุนที่ไหนมาปรับปรุงกิจการเพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวในช่วงที่เปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็วๆนี้ อยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือสนับสนุนเงินกู้ให้กับผู้ประกอบการท่องเที่ยวรายย่อยในภูเก็ตเพื่อให้กิจการเปิดได้

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมเกรงว่า หากผู้ประกอบการไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด ผู้ประกอบการรายย่อยจะนำเงินจากที่ไหนมาปรับปรุงธุรกิจ ทั้งในส่วนของโรงแรม เรือบริการท่องเที่ยว รถรับส่งนักท่องเที่ยว ร้านค้า ฯลฯ เพื่อรองรับการเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตามแผนที่กำหนดไว้ 1 ก.ค.นี้

ที่ประชุมได้ข้อสรุปว่าทางจังหวัดภูเก็ตจะรวบรวมประเภทธุรกิจรายย่อย รวมไปถึงจำนวนรายที่ต้องการสินเชื่อ วงเงิน แรงงานในภาคธุรกิจ และข้อจำกัดในการยื่นของเงินกู้ ของธุรกิจขนาดเล็กด้านการท่องเที่ยวในภูเก็ต เพื่อขอสนับสนุนการปล่อยเงินกู้รัฐบาล อาจจะเป็นในรูปแบบของเงินกู้ระยะสั้นดอกเบี้ยต่ำ เงินอุดหนุนพิเศษ หรือ กองทุน เพื่อแก้ปัญหาธุรกิจไม่เข้าเงื่อนไขการตามที่ ธปท.กำหนด

Subscribe