พบวาฬหัวทุยถูกคลื่นซัดเกยตื้นที่หาดเลพัง ภูเก็ต ชาวบ้าน ไลน์การ์ด พนักงานโรงแรมช่วยกันตักน้ำทะเลชะโลมไม่ให้ตัววาฬแห้ง (มีคลิป)

พบวาฬหัวทุยถูกคลื่นซัดเกยตื้นที่หาดเลพัง ภูเก็ต คาดว่าป่วยชาวบ้าน ไลน์การ์ด พนักงานโรงแรมช่วยกันตักน้ำทะเลชะโลมไม่ให้ตัววาฬแห้ง และจากข้อมูลพบครั้งล่าสุดในจังหวัดภูเก็ตปี 2019

เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 17 มิถุนายน 2564 นายจิรยุทธิ์ จิรสุนทรกุล กำนันตำบลเชิงทะเล ได้รับแจ้งจากชาวบ้าน ว่า พบวาฬขนาดใหญ่ถูกคลื่นซัดมาเกยตื้นที่หาดเลพัง ต.เชิงทะเล อ.ถลาง จ.ภูเก็ต หลังจากรับแจ้ง จึงเดินทางไปตรวจสอบ หลังจากรับแจ้ง จึงเดินทางไปตรวจสอบ พบวาฬเกยตื้นที่ชายหาดทางเจ้าหน้าที่ ไลฟ์การ์ด ชาวบ้าน พนักงานโรงแรมและชาวต่างชาติ กำลังช่วยกันนำผ้าขนหนูมาห่อตัวพร้อมตักน้ำทะเลเพื่อนำชะโลมวาฬไม่ให้ตัวแห้ง ก่อนประสาน เจ้าหน้าที่ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายากสิรีธาร ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน ต.วิชิต อ.เมืองภูเก็ต ขอให้เดินทางไปรับตัวด้วย

จากการตรวจสอบ พบว่าเป็นวาฬหัวทุย ยาวประมาณ 3 เมตร น้ำหนักกว่า 100 กิโลกรัม และที่ลำตัวมีแผลถลอกเช็กน้อย และเมื่อเจ้าหน้าที่ฯเดินทางไปถึง ชาวบ้าน พนักงานโรงแรม และคนที่ดูอยู่บริเวณชายดังกล่าว 30 คนได้ช่วยกันยกวาฬนำขึ้นของศูนย์ฯ เพื่อเร่งนำไปช่วยเหลือ เบื้องต้นวาฬมีอาการอ่อนเพลีย เนื่องจากเกยตื้นอยู่ไม่ตำ่กว่า 1 ชั่วโมง และทางทีมแพทย์ได้มีการเจาะเลือดดูว่าวาฬมีการติดเชื้อหรือไม่ หากมีการติดเชื้อก็จะมีการให้ยารักษาก่อนนำลงบ่ออนุบาล

อย่างไรก็ตาม สำหรับวาฬชนิดดังกล่าวพบครั้งล่าสุดในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ปี 2019 คาดว่าน่าจะหลงฝูงและมีอาการป่วยจึงถูกคลื่นซัดเข้าฝั่ง

นอกจากนั้น วาฬหัวทุยเป็นวาฬที่พบได้ในทะเลและมหาสมุทรทั่วโลก ในน่านน้ำไทยพบรายงานเพียง 3 จังหวัด คือ พังงา ภูเก็ต และสตูล ถูกจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมาย

สำหรับ วาฬหัวทุยตัวผู้มีขนาดโตเต็มวัยยาวประมาณ 15–18 เมตร วาฬหัวทุยตัวเมียจะยาวประมาณ 12–14 เมตร ส่วนลูกแรกเกิดยาว 3.5–4.5 เมตร แม่วาฬใช้เวลาตั้งท้อง 16–17 เดือน ลูกจะอาศัยอยู่กับแม่เป็นเวลาประมาณ 13 เดือนเศษ ๆ จึงแยกออกหากินอิสระ มีน้ำหนักประมาณ 28 ตัน ซึ่งวาฬหัวทุยเป็นวาฬที่อาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง และเป็นวาฬชนิดที่ดำน้ำได้ลึกที่สุด มีรายงานว่า สามารถดำน้ำได้ลึกถึง 1,000 เมตร โดยใช้เวลาประมาณ 40 นาที และมีรายงานจากการติดตามวาฬที่ติดเครื่องหมายด้วยระบบโซนาร์ พบว่าสามารถดำน้ำได้ลึกถึง 2,800–3,000 เมตร โดยใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง จากการสูดหายใจเพียงครั้งเดียวที่ผิวน้ำที่มีแรงกดดันเท่ากับที่มนุษย์หายใจ ซึ่งในระดับความลึกกว่า 1,000 เมตร แรงกดของอากาศมากกว่าที่ผิวน้ำ 100 เท่า บีบอัดปอดของวาฬให้เหลือเพียงร้อยละ 1 ของปริมาตรทั้งหมด แต่ขณะที่ยังเป็นวาฬวัยอ่อนอยู่จะยังไม่สามารถดำน้ำลึกได้เหมือนตัวที่โตเต็มวัย

Subscribe