รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา ลงพื้นที่ภูเก็ต มอบใบรับรองมาตรฐานสุขอานามัยระดับสากล

รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา ลงพื้นที่ภูเก็ต มอบใบรับรองมาตรฐานสุขอานามัยระดับสากลและเผยแพร่ความรู้งานวิจัยของโครงการต้นแบบการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการย้ำวางกลยุทธ์ในการยกระดับพื้นที่จังหวัดภูเก็ตสู่การท่องเที่ยวมูลค่าสูง

วันนี้ (28 เม.ย.65) ที่ โรงแรมโนโวเทลภูเก็ตซิตี้ โภคีธรา นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานในพิธีมอบใบรับรองมาตรฐานสุขอนามัยระดับสากลและเผยแพร่ความรู้งานวิจัยของโครงการต้นแบบการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและปาฐกถาในหัวข้อ “นโยบายการยกระดับพื้นที่จังหวัดภูเก็ตสู่การท่องเที่ยวมูลค่าสูง” โดยมีนายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต, นางสาวนวลสมร อุณหะประทีป อาจารย์ประจำคณะวิเทศศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ตและผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วม

นางสาวนวลสมร กล่าวว่า โครงการวิจัยโครงการต้นแบบการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการจังหวัดภูเก็ต เกิดขึ้นจากการดำเนินการของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตภูเก็ต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ บริษัทพีโซน่ากรุ๊ป จำกัดและบริษัทเอส อี เอ คอนซัลติ้ง จำกัด มีวัตถุประสงค์สำคัญในการนำมาตรฐานระดับสากลมาประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับความปลอดภัยด้านสุขอนามัยให้แก่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการของไทยให้ก้าวสู่ความเป็นสากล ซึ่งมาตรฐานสุขอนามัยระดับสากล GBAC Star พัฒนาขึ้นโดย ISSA- The Worldwide Cleaning Industry Association ประเทศสหรัฐอเมริกาและในปัจจุบันมีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการที่ผ่านการรับรองทั่วโลกมากกว่า 1,600 แห่งทั่วโลกจึงได้รับเลือกจากผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตให้เป็นต้นแบบการรับรองที่ใช้ในการศึกษาในโครงการนี้ เพื่อพัฒนาเป็นต้นแบบการขอรับการรับรองที่มีประสิทธิภาพ ภายใต้การสนับสนุนพื้นที่ทดลองจาก โรงแรมป่าตองเบย์ฮิลล์, ไทเกอร์มวยไทยและเกาะยาวใหญ่วิจเลจ ทำให้โรงแรมป่าตองเบย์ฮิลล์ได้รับการรับรองประเภทโรงแรมที่มีการบริหารงานแบบอิสระ มีเจ้าของเป็นคนไทยเป็นแห่งแรกของประเทศไทย, ไทเกอร์มวยไทยได้รับการรับรองประเภทสถานออกกำลังกายเป็นแห่งแรกของประเทศไทยและเกาะยาวใหญ่วิลเลจที่ใช้ระยะเวลาการเตรียมการเพียง 3 เดือน รวมถึงนักวิจัยในโครงการได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนมาตรฐาน GBAC Star ในภูมิภาคอาเซียนด้วย

ขณะที่นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ในนามของชาวภูเก็ต ขอขอบคุณรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นอย่างสูง ที่ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ท่านได้อยู่กับชาวภูเก็ตตลอดมาและเป็นกำลังใจทุกวิถีทางให้ชาวภูเก็ตอยู่รอดปลอดภัยจากโควิด-19 ทั้งนี้จังหวัดภูเก็ตกล่าวได้ว่าเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลกที่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเดินทางเข้ามาและเป็นคำถามที่ต้องตอบคำถามว่าภูเก็ตได้อะไร ซึ่งในวันนี้ในการพัฒนาจังหวัดภูเก็ตให้มีมาตรฐานเป็นเรื่องสำคัญ โดยโครงการวิจัยต้นแบบการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการจังหวัดภูเก็ต เพื่อยกระดับความปลอดภัยด้านสุขอนามัยให้แก่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการของไทยให้ก้าวสู่ความเป็นสากลก็เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ตอบโจทย์ว่า ผู้ประกอบการได้อะไร

จากที่ผ่านมาภูเก็ตกับปัญหาความยากลำบากมาจากโครงสร้างที่รองรับการท่องเที่ยวอย่างเดียว วันนี้ภูเก็ตกำลังสร้างโครงการกิจกรรมโดยมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นผู้รับรองให้จะเป็นการสร้างความเชื่อถือ ความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยว เหล่านี้ล้วนเป็นประโยชน์ต่อจังหวัดภูเก็ตที่ยกระดับมาตรฐานสากลขึ้นไปอีก ในปี 2028 ภูเก็ตกำลังเสนอตัวเป็นเจ้าภาพงาน Specialised Expo 2028 ที่มีการแข่งขันกับอีก 4 ประเทศ ซึ่งในเดือนกรกฏาคม 2565 คณะกรรมการ BIE จะมีการตรวจประเมินความพร้อมของพื้นที่ สิ่งเหล่านี้จะมีความคืบหน้าไปในอีก 4-5 ปีข้างหน้า ถ้าหากได้รับการเลือก ซึ่งท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะเป็นอีกท่านหนึ่งที่เป็นพลังขับเคลื่อนและกิจกรรมวันนี้ถือว่าเป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจขับเคลื่อนจังหวัดภูเก็ตต่อไป

ด้านนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวในการปาฐกถาในหัวข้อ “นโยบายการยกระดับพื้นที่จังหวัดภูเก็ตสู่การท่องเที่ยวมูลค่าสูง” ในตอนหนึ่งว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างมากที่สถานประกอบการในจังหวัดภูเก็ตได้รับมาตรฐานสุขอนามัยระดับสากล GBAC Star ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นการนำมาตรฐานระดับสากลมาประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับความปลอดภัยด้านสุขอนามัยให้แก่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการของไทย สร้างความสามารถในการแข่งขันขประเทศที่เป็นรูปธรรม ซึ่งสามารถสร้างความเชื่อมั่นด้านสุขอนามัยสำหรับนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดีและจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพที่มีการใช้จ่ายสูงอันจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นด้านสุขอนามัยสำหรับนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี ระยะต่อจากนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้วางกลยุทธ์ในการยกระดับพื้นที่จังหวัดภูเก็ตสู่การท่องเที่ยวมูลค่าสูง โดยจะมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติและชาวไทย กลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ โดยพุ่งเป้าหมายการพัฒนาไปที่การท่องเที่ยวศักยภาพ 6 ด้านได้แก่ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งมติ ครม.เมื่อ 1 มี.ค. 2565 ได้อนุมัติหลักการในการจัดสรรงบประมาณ 1,411.70 ล้านบาทเพื่อดำเนินโครงการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจังหวัดภูเก็ตสู่เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลกระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี ตั้งแต่ปี 2566-2569 โดยจะมีการจัดสร้างศูนย์บริการทางการแพทย์ครบวงจรประกอบด้วย ศูนย์บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขระดับนานาชาติครบวงจร ศูนย์อภิบาลสุขภาพผู้สูงอายุนานาชาติ ศูนย์ใจรักษ์หรือศูนย์การดูแลแบบประคับประคองในระยะสุดท้ายของชีวิตและศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูครบวงจร, การท่องเที่ยวเชิงธุรกิจและสัมมนา โดยประเทศไทยได้เสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงาน Specialised Expo 2028 ที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่ง ครม. ได้อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณจำนวน 4,180 ล้านบาทเรียบร้อยแล้ว โดยกำหนดจัดขึ้นบนที่ดินราชพัสดุแปลงบ้านท่าฉัตรไชย ต. ไม้ขาว อ. ถลาง จ. ภูเก็ต เนื้อที่ 141 ไร่, การท่องเที่ยวทางทะเลและชายหาด เช่นการพัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ โดยตั้งเป้าให้ภูเก็ต สมุยและแหลมฉบังเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวสำราญทางน้ำ รวมถึงกิจกรรมทางน้ำอาทิ ดำน้ำ เวคบอร์ด เจ็ทสกีและการแข่งขันกีฬาทางน้ำ เป็นต้น, การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ซึ่งนักท่องเที่ยวให้ความสนใจการท่องเที่ยวทางธรรมชาติและการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบเพิ่มมากขึ้น เช่น การท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ, การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวเพิ่มมูลค่าและมูลค่าจากแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ ศาสนาและวัฒนธรรม อาหารใต้ อาหารฮาลาล ศิลปะการแสดง การแต่งกาย เป็นต้นและการท่องเที่ยวเชิงกีฬา ซึ่งเป็นการนำกีฬาทางบก ทางน้ำ ทางอากาศมาบูรณาการส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างการรับรู้ถึงคุณค่าทางกีฬา ซึ่งกลยุทธ์ทั้งหมดนี้ จะทำให้ภูเก็ตและพื้นที่เชื่อมโยงเกิดการจ้างงาน กระจายรายได้ เพิ่ม GDP ส่งผลให้มีมูลค่าเศรษฐกิจสูงขึ้น รวมทั้งยังเป็นการส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือกและสมุนไพรไทย พร้อมยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีทางการแพทย์และระบบริการด้านสาธารณสุขของไทยให้เป็นที่ยอมรับในเวทีโลก โดยทั้งหมดนี้เป็นนโยบายในการ “พลิกฟื้นการท่องเที่ยวไทย สู่มิติใหม่ เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม” โดยมุ่งเน้นไปที่การท่องเที่ยวที่เน้นคุณค่า มีความสามารถในการปรับตัวสู่การเติบโตอย่างทั่วถึง ยั่งยืนและสมดุลโดยมีความอยู่ดีกินดีของประชาชนเป็นหัวใจสำคัญ อันจะนำมาสู่ความเจริญทางเศรษฐกิจต่อประเทศต่อไป

Subscribe