เริ่มก่อสร้างได้ปีหน้า ทางลอดอุโมงค์กะทู้-ป่าตอง เบื้องต้นคาดใช้เวลาขุดเจาะประมาณ 4 ปี และเปิดใช้เส้นทางได้ในปี 2570

ว่าที่ร้อยตรีวิกรม จากที่ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการจัดระบบการจราจรทางบกจังหวัดภูเก็ต ครั้งที่ 1/2564 ณ ห้องประชุมคอซิมบี้ ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต ว่า วันนี้เป็นการประชุมแก้ปัญหาจราจรทั้งระบบในจังหวัดภูเก็ต โดยได้รับความกรุณาจากรองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) รองผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) รองผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) และหน่วยงานเกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน ได้ประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาเรื่องโครงข่ายคมนาคมในภาพรวมของจังหวัดภูเก็ตทั้งระบบ เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรทั้งในส่วนของถนนสายสาคู เกาะแก้ว ซึ่งเดิมให้เป็นหน้าที่ของกรมทางหลวง แต่วันนี้รัฐบาลได้เห็นว่าโครงการโครงข่ายคมนาคมของจังหวัดภูเก็ต มีเส้นทางของกะทู้ เส้นทางอุโมงค์ป่าตอง เลยเอาทั้ง 3 โครงการมาเชื่อมให้เป็นโครงการเดียวกัน โดยให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ซึ่งมีแผนในการปฏิบัติงานค่อนข้างชัดเจน

“วันนี้ที่ค่อนข้างชัดเจน คือเรื่องของการก่อสร้างอุโมงค์ป่าตอง ซึ่งการทางพิเศษแห่งประเทศไทย โดยรองผู้ว่าการฯ ได้แจ้งให้เราทราบว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีคณะใหญ่ ซึ่งจะใช้ระยะเวลาไม่นานภายในปี 2564 หลังจากนั้นก็จะเป็นขั้นตอนของการดำเนินการก่อสร้าง ในส่วนอื่นๆ นั้น หลังจากที่วันนี้ ที่ประชุมไม่ว่าภาคราชการ ภาคเอกชนได้เสนอ ทางส่วนกลางที่เดินทางมาแล้วก็จะมีการปรับแก้กันอีกครั้งหนึ่ง แล้วก็หลังจากนั้น ก็จะได้มีการประชุมร่วมกับจังหวัดเพื่อที่จะเดินหน้าต่อให้เร็วที่สุด” รองผวจ.ภูเก็ต กล่าวด้าน นายกาจผจญ อุดมธรรมภักดี รองผู้ว่าการฝ่ายกลยุทธ์และแผนงานการทางพิเศษแห่งประเทศไทย( กทพ.) กล่าวว่า วันนี้โครงการแรกที่มีความพร้อม มีความคืบหน้ามากที่สุดแล้ว คือโครงการก่อสร้างอุโมงค์กะทู้-ป่าตอง เนื่องจากผ่านนโยบายกองทุนแล้ว เหลือขั้นตอนเดียวคือทางกระทรวงการคลังจะนำเข้าคณะรัฐมนตรีภายใน 2-3 เดือนนี้ เมื่อผ่านคณะรัฐมนตรีแล้ว การทางพิเศษจะทำ 2 เรื่องคู่ขนานกัน คือการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน การจัดหาคนมาดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในปีนี้ และการบริหารจัดการการเก็บค่าผ่านทาง

โดยจะใช้ระยะเวลาในการเจาะอุโมงค์ ประมาณ 4 ปี ซึ่งก็จะพยายามเร่งให้เร็วกว่านั้นแต่ในเบื้องต้นกำหนดไว้ 4 ปีก่อน และคาดว่าจะเปิดใช้เส้นทางได้ในปี 2570  ในส่วนของการเก็บค่าผ่านทางกรณีที่เป็นรถยนต์ส่วนบุคคล จะเก็บคันละ 40 บาท รถจักรยานยนต์ ก็จะมีช่องทางให้เข้าได้ทั้งไปและกลับแยกกันต่างหากกับ รถยนต์ จะเก็บคันละ 15 บาท ส่วนกรณีของรถ 6 ล้อ 10 ล้อ ก็จะมีอัตราที่สูงกว่ารถยนต์ส่วนบุคคลเล็กน้อย การปรับอัตราเบื้องต้น จะปรับประมาณ 5 ปี ครั้ง ซึ่งจะปรับขึ้นไม่มาก ขึ้นอยู่กับดัชนีผู้บริโภคของภูเก็ตเองว่าเป็นยังไงส่วนการลงทุนจะเป็นรูปแบบของเอกชนร่วมลงทุน รัฐจะลงทุนในส่วนที่เป็นค่ากรรมสิทธิ์ที่ดิน ส่วนที่เป็นส่วนหลักคือค่าก่อสร้างแล้วก็ค่างานเรื่องด่าน ระบบจัดเก็บค่าผ่านทางแล้วก็ตัวบริหารจัดการอีก 30 กว่าปี เป็นเอกชนลงทุนทั้งหมด รัฐไม่ได้ช่วยเหลือ ก็มีเอกชนให้ความสนใจหลายราย ทั้งต่างชาติและคนไทย แต่ตามนโยบายของประเทศตอนนี้คงจะสนับสนุนผู้ประกอบการคนไทยเป็นหลักก่อน”

รูปแบบของตัวโครงการ เป็นอุโมงค์คู่ ทิศทางขาไป กับทิศทางขาออก ทั้งขาไป ขาออก จะมีช่องจราจรของรถยนต์ทั้งขาไปและขากลับเหมือนกัน ก็จะมีช่องกั้นระหว่างช่องทางรถจักรยานยนต์กับรถยนต์เพื่อไม่ให้ข้ามกันมาได้ เพื่อระวังป้องกันเรื่องอุบัติเหตุ

คาดการจำนวนรถที่จะใช้อุโมงค์ ปีแรกที่เปิดใช้เส้นทางประมาณ 6-7 หมื่นคันต่อวัน รวมกันทั้งไปและกลับ ซึ่งจะเป็นรถยนต์ครึ่งหนึ่ง รถจักรยานยนต์ครึ่งหนึ่งรองผู้ว่าการ กทพ. กล่าวต่อไปอีกว่า อีก 2 โครงการ ได้รวมเป็นโครงการเดียวกันแล้ว โดยนำเอาเส้นทางสาคู เกาะแก้ว ที่ทางกรมทางหลวงได้ออกแบบไว้ มาผนวกกับเส้นทางกะทู้ ก็จะได้เส้นทางใหม่ เรียกว่าเส้นทาง “เมืองใหม่ เกาะแก้ว กะทู้” ซึ่งจะเป็นทางด่วน โดยจุดเริ่มต้นจะอยู่ที่ทางหลวงแผ่นดิน 4026 ตรงทางเข้าเส้นสนามบิน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการศึกษา ซึ่งจะต้องมีการศึกษาใหม่ ลงมาพบปะพี่น้องประชาชนใหม่ เนื่องจากการทางพิเศษเพิ่งได้รับมอบมาจากกรมทางหลวงเมื่อประมาณช่วงต้นปีนี้เองในเส้นทางนี้จะสร้างทางคู่ขนานเพิ่มทั้ง 2 ข้างเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนสามารถสัญจรผ่านไปมาได้ ทำให้เขตทางเพิ่มขึ้นจากเดิม 80 เมตรก็จะกลายเป็น 100-120 เมตร ขึ้นอยู่กับว่าจะออกแบบมาเป็นยังไง ทำให้ต้องมาศึกษาและรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนใหม่ เพราะผลกระทบมีการเปลี่ยนแปลง การใช้พื้นที่ป่าไม้ก็เปลี่ยนด้วย คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปีเศษๆ ในการประมวลผล สรุปโครงการ ส่วนงบในการก่อสร้างคาดว่าจะใช้งบก่อสร้างเบื้องต้น 20,000 กว่าล้านบาท ซึ่งรวมในส่วนของค่าเวนคืนด้วย

Subscribe